ปี 69 งบลงทุนวูบ 7.2 หมื่นล้าน ตั้งชดเชยเงินคงคลัง-ขาดดุลพุ่ง

08 ม.ค. 2568 | 06:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2568 | 11:01 น.

ครม.ไฟเขียวงบปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากปีก่อน งบลงทุนลดลง 7.2 หมื่นล้าน ขณะที่รายจ่ายประจำสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท ยอมขาดดุล 8.6 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน ‘จุลพันธ์’ ยันวงเงินเหมาะสม

นายอนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 3,780,600 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) โดยปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 เป็นจำนวน 27,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.7%

 โดยงบประมาณฯ ปี 2569 กำหนดรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,920,600 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีก่อน ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2.3-3.3 หรือค่ากลาง 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2%

สำหรับโครงสร้างงบประมาณฯ ปี 2569 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท ประกอบด้วย

 1. รายจ่ายประจำ 2,645,858.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจาก 2,680,436.6 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 34,577.7 ล้านบาท หรือลดลง 1.29%

 2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณ จากเดิมในปีงบประมาณ 2568 ไม่มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้เอาไว้

 3. รายจ่ายลงทุน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.7% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจาก 932,362 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 72,362 ล้านบาท หรือลดลง 7.76%

 4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจาก 150,100 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 1,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.73%

สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยในปีงบประมาณ 2569 ยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ และค่าครองชีพ เช่นเดียวกับการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

 

ปี 69 งบลงทุนวูบ 7.2 หมื่นล้าน ตั้งชดเชยเงินคงคลัง-ขาดดุลพุ่ง

 

 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วงเงินงบประมาณฯ ปี 2569 ที่ผ่านการเห็นชอบจากครม.ครั้งนี้ ได้ประมาณการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท พร้อมกำหนดการขาดดุลงบประมาณลดลง 5,700 ล้านบาท โดยการขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องมีการดูในเรื่องของงบประมาณที่เสนอเข้ามาและจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไป

 “หน่วยงานเศรษฐกิจต่างมองว่าระดับของงบประมาณนี้เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายต่อไป โดยกระทรวงการคลังจะต้องดูการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สำนักงบประมาณต้องดูในเรื่องของการใช้จ่าย และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ก็ต้องมีหน้าที่ไปดูเงินเฟ้อให้ได้ตามกรอบเป้าหมาย 1-3% และให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างรมว.คลังกับผู้ว่า ธปท.ที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าใกล้ 2% ตามที่ตกลงไว้ โดยเรื่องนี้ต้องให้เวลาที่ ธปท.จะทำให้เงินเฟ้อเข้ากรอบและค่ากลางที่ 2%” นายจุลพันธ์ กล่าว

ปี 69 งบลงทุนวูบ 7.2 หมื่นล้าน ตั้งชดเชยเงินคงคลัง-ขาดดุลพุ่ง

 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุมครม.ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับในที่ประชุมครม. ขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 ให้เป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลางอย่างเคร่งครัด โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

 1. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย

 2. ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สำหรับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เสนอขอรับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ

 3. ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม ให้นำเงินมาใช้ดำเนินโครงการหรือภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการของหน่วยงาน ตามความเหมาะสม

 4. ให้ทุกกระทรวงและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ส่วนขั้นตอนต่อไปในวันที่ 15 มกราคม 2568 นี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ให้กับหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำคำของบประมาณเสนอเข้ามายังสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณารายละเอียดในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณต่อไป