ทะลวงแผนทำงาน 3 เดือน “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท. ปลุกที่ดิน 3.8 หมื่นไร่

08 ม.ค. 2568 | 06:00 น.

เปิดแผนทำงาน 3 เดือน “วีริศ อัมระปาล” หลังข้ามห้วยรับตำแหน่งผู้ว่ารฟท.คนใหม่ เร่งปั้นรายได้บริหารทรัพย์สิน 3.8 หมื่นไร่ ห่วงนโยบายบ้านเพื่อไทย ส่อกระทบรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ เร่งบิ๊กโปรเจ็กต์รถไฟไฮสปีด ยกระดับระบบราง

KEY

POINTS

  • เปิดแผนทำงาน 3 เดือน “วีริศ อัมระปาล” หลังข้ามห้วยรับตำแหน่งผู้ว่ารฟท.คนใหม่
  • เร่งปั้นรายได้บริหารทรัพย์สิน 3.8 หมื่นไร่
  • ห่วงนโยบายบ้านเพื่อไทย ส่อกระทบรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์
  • ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์รถไฟไฮสปีด ยกระดับระบบราง 

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ รฟท. 1 ในองค์กรภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ,โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตลอดจนที่ดินของรฟท.ทั่วประเทศที่สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมา “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังจากข้ามห้วยจากผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เข้ามารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วนั้น

บริหารทรัพย์สินเพิ่มรายได้

ล่าสุด นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันมีแนวทางการดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ ในการบริหารสินทรัพย์ร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จํากัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกรฟท. ผลักดันให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูง (TOD) กับการเดินรถรูปแบบ Open Acces ภายใต้โครงการเดียวกัน เพื่อลดภาระการเดินรถในสายทางที่ไม่มีกำไร

ขณะเดียวกันได้สนับสนุนให้เกิดการเพิ่ม FAR (Floor Area Ratio) เพื่อให้ รฟท. ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการพัฒนาที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ เร่งรัดการจัดการสัญญาสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น ที่ดินแปลงใหญ่ที่เคยดำเนินการผ่าน PPP ที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ การพัฒนาย่านขนส่งสินค้า และ ICD รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่ และสร้างและสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ

สำหรับที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่

ปัจจุบันรฟท. ได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ SRTA อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่ เพื่อให้บริษัทลูกของรฟท. นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของรฟท.

โหม 35 แปลง ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้บริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการของรฟท. ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนเร่งด่วน ปี 2568 จำนวน 8 แปลง เช่น 1.โครงการบางซื่อ - คลองตัน (RCA) 2.โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย 3.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง 4.โครงการสถานีราชปรารภ (แปลง OA) 5.โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.)
 
ส่วนแผนระยะกลาง ปี 2569 - 2572 จำนวน 18 แปลง เช่น 1.โครงการย่านสถานีแม่น้ำ  2.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง D) 3.โครงการย่านบางซื่อ กม.11 (แปลง G2-G8) 4.โครงการบริเวณท่านุ่น 5.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง E1) 6.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง 7.โครงการย่านสถานีมักกะสัน (แปลง B C E) 8.โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง D) 9.โครงการตลาดศาลาน้ำร้อน (สถานีธนบุรี) 10.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง C) 11.โครงการบางซื่อ (แปลง A1) สนง.ใหญ่ รฟท. ฯลฯ
 
ด้านแผนระยะยาว ปี 2573 - 2577 จำนวน 9 แปลง เช่น 1.โครงการพัฒนาพื้นที่ธนบุรี 21 ไร่  2.โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง A F G) 3.โครงการย่านสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 4.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง F) 5.โครงการย่านสถานีนครราชสีมา (แปลง F) ฯลฯ

หวั่นบ้านเพื่อคนไทย กระทบรายได้

นายวีริศ ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ปัจจุบันรฟท. ได้รับทราบจากรัฐบาลที่จะเดินหน้าผลักดันบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งมอบหมายให้ SRTA เป็นผู้ดำเนินการนั้น จากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ในช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีความชัดเจนถึงรายละเอียดในการเดินหน้าโครงการมากนักเพียงแต่รับทราบแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น
 

“บอร์ดรฟท.ได้มีการซักถามข้อมูลการเพิ่มดีมานด์และซับพลายของที่ดิน ในกรณีที่ใช้พื้นที่รฟท.ไปดำเนินการโครงการบ้านเพื่อคนไทย รวมถึงการศึกษารายละเอียดต่างๆ หากใช้ที่ดินรฟท.จะทำให้รายได้ลดลงหรือไม่ ซึ่ง SRTA ต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ คาดว่าใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี ก่อนนำมาเสนอ ต่อบอร์ดรฟท.พิจารณาต่อไป” นายวีริศ กล่าว

ลุย 2 บิ๊กโปรเจ็กต์รถไฟไฮสปีด

ขณะนี้ รฟท.ยังคงผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ทะลวงแผนทำงาน 3 เดือน “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท. ปลุกที่ดิน 3.8 หมื่นไร่
 
ขณะเดียวกันที่ประชุมฯให้มีการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุน เพื่อผลักดันให้โครงการฯ เดินหน้าพัฒนาต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนต้องไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร และเตรียมเสนอหลักการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกรอบการดำเนินงานเดิมจะนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณาในหลักการภายในเดือนมกราคมนี้
 
นอกจากนี้ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร งบประมาณลงทุนจำนวน 341,351 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการ คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 ยืนยันตามแผนงานการประกวดราคาไม่ล่าช้า

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568