เจาะกลยุทธ์ปี 68 “ไทยสมายล์บัส” ดึงเทคโนโลยี รับเทรนด์ต่างชาติ-บัตรคนจน

20 ธ.ค. 2567 | 17:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 18:05 น.

“ไทยสมายล์บัส” เปิดยอดผู้โดยสารปี 67 แตะ 3.8 แสนคน เตรียมหนุนบัตรคนจน-บัตรเครดิต ดึงเทคโนโลยีวางระบบ ติดตามระยะห่างรถเรียลไทม์ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารปี 68 พุ่ง 4.8 แสนคนต่อวัน

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการให้บริการเดินรถของ ไทย สมายล์บัส ที่มียอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยหลักมาจากการที่ผู้ประกอบการเดินรถในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ได้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เส้นทางปฏิรูป 100% ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้ามาอยู่ในกฎกติกาเดียวกัน รวมถึงการถอดถอนของกลุ่มผู้ให้บริการรถร่วม

ขณะเดียวกันไทยสมายล์บัส มีการปรับปรุงระบบปฏิบัติการภายใน ทั้งการควบคุมคุณภาพการเดินรถ พัฒนาบุคลากร จัดทำให้การเดินรถมีมาตรฐาน มีความแน่นอนมากขึ้นในหลายเส้นทาง สะท้อนได้จากข้อร้องเรียนพฤติกรรมการขับขี่ของกัปตันเมล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า ยังมีบางกลุ่มเส้นทางที่ผู้โดยสารไม่ตอบสนอง ทำให้รายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้จัดทำแผนพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยวันละ 3.8 แสนคน จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 2.5 แสนคนต่อวันเท่านั้นสอดคล้องกับจำนวนรถของไทยสมายล์บัส ที่ได้เติมรถเข้าระบบเพิ่มขึ้นกว่า 32% 
 

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีจำนวนรถที่ให้บริการเฉลี่ยวันละ 1,650 คัน (ไม่รวมรถหมุนเวียน) จากเดิมที่มีรถให้บริการในช่วงต้นปีอยู่ที่ 1,251 คันและในปีหน้ายังคงมีแผนเพิ่มรถให้บริการไปอยู่ในระดับ 2,000 คันต่อวัน ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปัจจุบัน สามารถกลับมาเป็นบวกได้แล้ว ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 

เจาะกลยุทธ์ปี 68 “ไทยสมายล์บัส” ดึงเทคโนโลยี รับเทรนด์ต่างชาติ-บัตรคนจน

ขณะเดียวกันในปี 2568 ไทยสมายล์บัส จะยึดแนวทาง 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพการให้บริการ 2.พัฒนาบุคลากร 3.พัฒนาระบบเดินรถ และ 4.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการทำงาน เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวต่อว่า ในปี 2568 เรากำลังติดตั้งระบบการติดตามการปล่อยรถ ยกระดับให้เหมือนหอบังคับการบิน คือรถทุกคันของไทยสมายล์บัส จะสามารถมอนิเตอร์รถได้อย่างเรียลไทม์ ห่างกันกี่นาที เข้าป้ายกี่โมง สภาพการจราจร ไปจนถึงการแจ้งไปยังรถที่อยู่บนถนนให้สามารถรู้ระยะห่างของแต่ละคันได้ พร้อมพัฒนาบุคลากรในส่วนควบคุมควบคู่กันไปด้วย 

เจาะกลยุทธ์ปี 68 “ไทยสมายล์บัส” ดึงเทคโนโลยี รับเทรนด์ต่างชาติ-บัตรคนจน

“ดังนั้นไทยสมายล์บัส จะเป็นเจ้าแรกที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับ ไปจนถึงฝึกสอนบุคลากรทั้งระบบ ควบคุมคุณภาพด้วยระบบเทคโนโลยี สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมรถเมล์ของไทยอย่างยั่งยืน“ นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าว
 

นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด กล่าวว่า การให้บริการของบริษัทฯ ที่ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตอยู่ 124 เส้นทาง พร้อมกับได้ให้บริการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการชั่วคราว (ใบอนุญาต ม.41) จำนวน 8 เส้นทาง 

ขณะเดียวกันไทยสมายล์บัส พร้อมขยายช่วงจากเส้นทางใกล้เคียงเดิม ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด หากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีการเปิดเส้นทางเพิ่มเติมบริษัทฯ ก็พร้อมพิจารณาเข้าร่วมต่อไปเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ  

เจาะกลยุทธ์ปี 68 “ไทยสมายล์บัส” ดึงเทคโนโลยี รับเทรนด์ต่างชาติ-บัตรคนจน

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า บริษัทคาดว่าภายในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการ จำนวน 4.5-4.8 แสนคนต่อวัน ซึ่งมาจากการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและกลุ่มผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) มาใช้บริการ  

ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทเตรียมเดินหน้าขยายการเปิดรับชำระค่าโดยสาร ด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับ กรมการขนส่งทางบก และธนาคารกรุงไทย เบื้องต้นจะมีการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน เป็นตัวรับเงินก่อน คาดได้ใช้จริงในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568

เจาะกลยุทธ์ปี 68 “ไทยสมายล์บัส” ดึงเทคโนโลยี รับเทรนด์ต่างชาติ-บัตรคนจน

นอกจากนี้ไทยสมายล์บัสได้วางแผนขยายระบบชำระเงิน (Payment) ด้วยการเปิดรับบัตรเดบิต เครดิต จากสองค่ายใหญ่อย่าง Visa กับ Master Card ให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเติมผ่านระบบ China T-Union รองรับบริการแก่นักท่องเที่ยวจีน ชำระค่าโดยสารอัตรา (Flat Rate) เพียง 25 บาทต่อเที่ยว รวมค่าทางด่วน ค่าจอดรับ-ส่งสนามบิน