"สอ.กฟผ." ชี้ประกาศ คพช. กระทบสหกรณ์ทั้งระบบ ทำลายคนเกษียณทางอ้อม

18 ธ.ค. 2567 | 07:29 น.

"สอ.กฟผ." ชี้ประกาศ คพช. กระทบสหกรณ์ทั้งระบบ ทำลายคนเกษียณทางอ้อม เตรียม ผนึก ชสอ. ร้องศาลปกครองยกเลิกร่างประกา ระบุกระทบสมาชิกสหกรณ์รัฐวิสาหกิจ 9 แสนล้านบาท ยันกำหนดให้รัฐบาลนั่งบริหารกองทุน ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร ประธานกรรมการดำเนินการ สอ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ของสอ.กฟผ. หัวข้อ “ชำแหละกฎกระทรวงและร่างประกาศ คพช.ที่เกี่ยวข้องกับการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์” ว่า กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 และมีร่างประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) เรื่องข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ จะส่งผลต่อการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน การลงทุนของสหกรณ์ทั้งตราสารหนี้ และตราสารทุน รวมทั้งกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะหุ้นรัฐวิสาหกิจที่สหกรณ์ลงทุน ที่สำคัญยังกระทบต่อการลงทุนของสหกรณ์ ส่งผลต่อรายได้ของสหกรณ์ การจ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝาก รวมถึงเงินปันผลสมาชิก

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันหาแนวทางเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์แก้ไขผ่อนปรนข้อกำหนดการลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
 

โดยสาระสำคัญในกฎกระทรวงกำหนดว่า ให้การลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 10% เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบแผนและวงเงินการลงทุนจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ สำหรับร่างประกาศ คพช. เรื่อง ข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ ฉบับที่กำลังทำประชาพิจารณ์ จะถูกกำหนดสัดส่วนการลงทุน ส่งผลให้สหกรณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถบริหารจัดการการลงทุน รวมถึงต้องดำเนินการแก้ไขพอร์ตการลงทุนทั้งหมด

"สอ.กฟผ." ชี้ประกาศ คพช. กระทบสหกรณ์ทั้งระบบ ทำลายคนเกษียณทางอ้อม

อย่างไรก็ดี สหกรณ์ต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลเล็งเห็นถึงผลกระทบที่มีกับสมาชิกเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุงานจะนําเงินก้อนสุดท้ายที่ได้รับจากหน่วยงานมาฝากไว้กับสหกรณ์ เพื่อสร้างผลตอบแทนรายเดือน ส่งผลให้สหกรณ์กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีเงินคงเหลือ ซึ่งสหกรณ์นำเงินในส่วนนี้ไปลงทุน เพื่อให้เกิดรายได้และนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสมาชิกต่อไป

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า หากสหกรณ์ลงทุนตามข้อกำหนดในร่างประกาศ คพช. จึงจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงเงินปันผลของสมาชิก จะกระทบโดยตรงกับสมาชิกทันที เพราะรายรับของสมาชิกลดลง ยากต่อการบริหารจัดการเงินในการดำรงชีพ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสหกรณ์ สมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันทำประชาพิจารณ์คัดค้านร่างประกาศ คพช. ที่ส่งผลโดยตรงกับเงินฝากและเงินปันผลของสมาชิก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการดำเนินงานและเป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องของสหกรณ์
 

"เจตนาหลักของสหกรณ์คือการออมทรัพย์เพื่อหวังเงินปันผลระยะยาว ซึ่ง คพช.เคยกลับมาดูหรือไม่ว่าสหกรณ์ทำอะไรอยู่ การบริหารความเสี่ยงที่กำหนดกฏเกณฑ์ตายตัวและการบังคับให้ลงทุนแค่ 10% ในตัวเดียวก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง นอกจากนี้ การผู้ขาดผู้จัดการกองทุนจะกล้าประกันเงินต้นหรือไม่ จึงควรให้มีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกอีกทั้งผู้จัดการกองทุนคิดค่าบริการจัดการถือเป็นการเพิ่มต้นทุน เมื่อชี้แจงไปก็ไม่มีเสียงตอบสนอง"

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรให้ทางเลือกกับสหกรณ์ ไม่ใช่ให้โอนเงินกว่า 9 แสนล้านบาทเข้ากองทุน สหกรณ์จะขาดทุนทันที ปันผลก็ไม่ได้ ดังนั้น จึงฝากถามภาครัฐว่าจะควบคุมหรือส่งเสริม เพราะร่าง คพช.ที่ออกมากระทบสหกรณ์ทั้งระบบ ทำลายคนเกษียณทางอ้อมที่เงินเดือนไม่มี หากพึ่งสหกรณ์ไม่ได้จะพึ่งใคร

ภายในสัปดาห์หน้าชุมนุมสหกรออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทรธ์พร้อมกับยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกประกาศฯ เพราะ คพช. ผิดรัฐธรรมนูญเรื่องของการผูกขาดในการคัดเลือกคนมาทำงานและไม่ควรกำหนดเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ถือเป็นการล็อกเสปกผู้จัดการกองทุนด้วย

นายฐกร บึงสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า จำกัด กล่าวในเวทีสัมมนาหัวข้อ “เจาะลึกผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนเมื่อพอร์ตลงทุนสหกรณ์ต้องเปลี่ยนแปลง” ว่า ปัจจุบันเงินในพอร์ตของกลุ่มสหกรณ์ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ซึ่งนำไปลงทุนทั้งพันธบัตร และหลักทรัพย์  

ในขณะที่เงื่อนไขกฏกระทรวงฯมีการจำกัดแหล่งลงทุน โดยสหกรณ์จะลงทุนหลักทรัพย์ได้เฉพาะหุ้น ของบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  (AOT)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  และบริษัท อสมท.จำกัด (MCOT) เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนด้วยสหกรณ์เองน้อยลง แต่ให้กระจายไปลงทุนผ่านบลจ.ที่เป็นภาครัฐ ได้แก่ กองทุนวายุภักษ์โดย บลจ.เอ็มเอฟซี  และบลจ.กรุงไทย เงื่อนไขเหล่านี้เป็นการผูกขาดเกินไปจะทำให้สหกรณ์รายได้ลดลง ดอกเบี้ยเงินฝากจะลดลงจากเดิมที่เคยได้รับ 5-6 % จะเหลือเพียง 3.5% และทำให้เงินปันผลหายไป  

นายณัฐดนัย ประทานพรทิพย์  Direct-Equity Portfolio Investment Department บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด  กล่าวว่า การจำกัดการลงทุนของสหกรณ์จะทำให้ผลตอบแทนลดลงไป และเกิดการลงทุนกระจุกตัว โดยมีเม็ดเงินที่เหลือจากการลงทุนจำนวนมาก