thansettakij
อาฟเตอร์ช็อกเศรษฐกิจ สูญ 2 หมื่นล้าน เขย่าความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว-นักลงทุน

อาฟเตอร์ช็อกเศรษฐกิจ สูญ 2 หมื่นล้าน เขย่าความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว-นักลงทุน

02 เม.ย. 2568 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 10:50 น.

เศรษฐกิจไทยสูญ 2 หมื่นล้าน “แผ่นดินไหว” เขย่าความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักลงทุน ฉุดกำลังซื้อ การจับจ่ายในประเทศวูบ เผย 2 วันยอดจองสายการบินลด 60% จี้รัฐเร่งโปรโมทดึงทัวริสต์

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่มีจุดศูนย์กลาง ณ ประเทศเมียนมา ที่มีแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ใน 63 จังหวัดของไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครที่ตึกสูง อาคารบ้านเรือนสั่นสะเทือนทั่วกรุง ผู้คนต้องวิ่งหนีตายเอาตัวรอด อาคารตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมา แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือ ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ต่อเศรษฐกิจไทย

 

เขย่าศก.สูญ 2 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่น ล้านบาท หรือกระทบ GDP -0.06% มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เพราะธุรกิจและครัวเรือนต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้

อาฟเตอร์ช็อกเศรษฐกิจ สูญ 2 หมื่นล้าน เขย่าความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว-นักลงทุน

แม้การซ่อมแซมความเสียหายและความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ นอกจากนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พัก ซึ่งโรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็เป็นอาคารสูง

 

กระทบท่องเที่ยว-ลงทุน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเบื้องต้นประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจจะมีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท โดยพิจารณาจาก 6 ประเด็น ได้แก่

1. ผลกระทบค่าใช้จ่ายของผู้พักอาศัยที่อยู่ในคอนโดมิเนียม ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครมีมากกว่า 5,900 แห่ง

2. คนที่อยู่ในคอนโดมิเนียมในเวลานี้ มีจำนวนมากที่คิดอยากจะขายเนื่องจากมองว่า อาจจะมีความไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะยอมขายขาดทุน หรือลดราคา อาทิ อย่างน้อย 5 แสน-1 ล้านบาทต่อยูนิต หากขาย 1 หมื่นยูนิต ก็จะมีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท

3. ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดอาจมีความกังวลและไม่เข้าพักในโรงแรมที่เป็นอาคารสูง ๆ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของโรงแรม

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

4. นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะมีความกังวลต่อที่พักและโรงแรมแม้จะไม่เกิดการถล่มหรือได้รับความเสียหายในการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด แต่ก็มีความกังวลว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ และอาจไม่เข้าพัก

5. การเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคการก่อสร้างโรงงานในไทยอาจจะหยุดคิดจากความไม่มั่นใจในวัสดุการก่อสร้างว่ามีคุณภาพหรือไม่ และ 6. ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาต่างชาติเวลานี้เกิดความเสียหายมากในเรื่องมาตรฐานสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างและความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

“ทั้ง 6 ประเด็นที่กล่าวมา แม้จะยังไม่สามารถคิดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่ประเมินคร่าวๆ ความเสียหายจะเป็นหลักหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน”

 

ลดความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย

ด้านนายชัย อรุณานนท์ชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า จากกรณีแผ่นดินไหวคาดว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยไม่เกิน 3 เดือนนี้ อันเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวเกิดความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัย เนื่องจากการนำเสนอข่าวที่มีภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวของเมียนมา มารวมกับความเสียหายในไทย โดยเฉพาะกรณีตึกสตง.ถล่ม ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก

ทำให้ต่างชาติมองว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะวางแผนเดินทางมาเที่ยวไทย เกิดความไม่มั่นใจและชะลอการเดินทางมาเที่ยวไทย โดยกรุงเทพจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายของโรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพียงความเสียหายเล็กน้อย เช่น ผนังแตกร้าว และไม่มีโรงแรมใดได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก ส่วนผลกระทบได้รับแจ้งจากสมาชิกโรงแรมว่านักท่องเที่ยวขอเช็กเอาต์ล่วงหน้า 8-10% ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา ขณะที่บางส่วนอาจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปพักที่พัทยาหรือภูเก็ตแทน

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์

สมาคมโรงแรมไทย คาดว่าจะส่งผลกระทบระยะสั้นต่อ ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ ทั้งกลุ่มที่จองการเดินทางแล้วแต่ไม่มา รวมถึงกลุ่มที่กำลังตัดสินใจเดินทางแล้วคิดว่ายังไม่มาดีกว่า ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่า 10-15%

 

ยอดจองสายการบินลด 60%

ด้านนายกฤษ พัฒนสาร กรรมการและเลขานุการ สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกรวม 6 สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยไลอ้อนแอร์, เวียตเจ็ทไทยแลนด์ และนกแอร์ กล่าวว่า ตัวเลขการจองที่นั่งโดยสารรายวันของสายการบินสมาชิกในช่วง 2 วันที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ลดลงเฉลี่ย 40-60% เฉพาะตลาดจีน ลดลงเกือบ 60% อินเดีย ลดลง 45% เวียดนาม ลดลง 45% และมาเลเซีย ลดลง 43%

อีกทั้งในช่วง 2 วันที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนราว 1,000 เคสที่ติดต่อเข้ามายังสายการบิน โดยกว่า 90% เป็นขอเลื่อนการเดินทาง ส่วนอีก 10% เป็นการยกเลิก และที่น่าตกใจคือจำนวนการไม่มาปรากฏตัว (No Show) ที่สนามบินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเฉลี่ยปกติมี 5% เพิ่มเป็น 10%

สอดรับกับนายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านบริษัททัวร์ล่าสุด พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30% จากปกติ 8,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 6,000 คนต่อวัน สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัวและเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

 

เร่งโปรโมทดึงทัวริสต์เข้าไทย

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นจะอยู่ช่วงเดือนเมษายน เทศกาลมหาสงกรานต์ การจัดงาน Exhibition จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จุดนี้รัฐบาลจะต้องเร่งโปรโมทและสร้างความเชื่อมั่นด้านแหล่งที่พักอาศัย ตลอดจนโรงแรมต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ เพราะขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะมีความกังวลในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“อยากให้รัฐบาล Take action มากกว่านี้ และต้องเตรียมพร้อมในระบบการจัดการ ระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันท่วงที เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นกระทันหัน ต้องมีสัญญาณก่อนล่วงหน้าที่สามารถตรวจจับได้อยู่แล้ว แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว แม้แต่ประชาชนคนไทยยังไม่มีความเชื่อมั่น ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจของประชาชนให้ได้เป็นอันดับแรก จะทำอย่างไรให้ประชาชนในประเทศรู้สึกมั่นคง”

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์

ส่วนผลกระทบระยะยาวคือด้านการท่องเที่ยว การลงทุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนธุรกิจที่เป็นโอกาสและน่าจะไปได้ดีซึ่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือ เรื่องอาหาร ธุรกิจเฮลท์แคร์ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญมากแค่ไหน เพราะตอนนี้มุ่งโปรโมทแค่เรื่อง Soft Power อย่างเดียวก็คงไม่พอ

 

ฟื้นเชื่อมั่นตลาดคอนโดฯ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาแต่ล่าสุดกลับได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมรอขายกว่า4.6แสนล้านบาทอย่างไรก็ตามประเมินว่ารัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันบูรณาการฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้กลับมาโดยเร็ว

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์แผ่นดินใหม่ครั้งนี้ อาคารสูงได้รับผลกระทบ เพียงวัสดุพื้นผิวได้รับความเสียหาย มีรอยแตกร้าว สามารถซ่อมแซมได้ โดยมีประกันทุกราย แต่โครงสร้างอาคารไม่ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคยังอยู่ในอาการวิตกกังวลและอาจมีอารมณ์ต้องการขายทิ้งคอนโดมิเนียมและมองหาบ้านแนวราบมากขึ้น มองว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และจะกลับมาเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันภาครัฐการันตรีการตรวจสอบอาคารและออกใบรับรอง

นอกจากนี้ภาคเอกชน ยกระดับ คุณภาพ การก่อสร้างโดยใช้นวัตกรรมขั้นสูงสุด เพื่อความปลอดภัยในอนาคตทั้งนี้ต้นทุน เกี่ยวกับการเพิ่มแรงต้านแผ่นดินไหวจะเพิ่มต้นทุนเข้าไปประมาณ 5-10% และหลายโครงการ สร้างสเปกการรับแรงแผ่นดินไหวเกินกว่าที่รัฐกำหนด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งมองว่าน่าจะครอบคลุมแล้ว ทั้งนี้มองว่า จากสถานการณ์ครั้งนี้จะทำให้ตลาดเกิดการชะลอตัวออกไปประมาณ 2 เดือน

 

แนะรัฐปรับแผนรับมือภัยพิบัติ

ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าผู้คนอาจมีความวิตก กลัว เกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และหากมองมุมบวกถือเป็นโอกาสปรับปรุงแผนเมื่อเกิดภัยพิบัติ การปรับปรุงป้องกันในระยะยาวน่าจะดี และภาครัฐจะควรมีสัญญาณแจ้งเตือนภัยเหมือนการเกิดสึนามิ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจจะต้องพุดคุยหรือหารือกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับระบบการจัดการ หรือกฎข้อบังคับของอาคารต่างๆ อีกครั้ง เพื่อเป็นมาตรฐานรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ถอดบทเรียนญี่ปุ่น

ผศ.ดร.ณัฎฐ์ดนัย สินสมุทรผดุง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถนำบทเรียนจากญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน ญี่ปุ่นมีระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวที่ทันสมัยผ่านแอปพลิเคชัน

เช่น “Yurekuru” ซึ่งแจ้งเตือนขนาดและจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าควรหลบภัยอยู่ในที่ปลอดภัยหรืออพยพไปยังจุดรวมพล นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังใช้ระบบแจ้งเตือนผ่าน SMS และสื่อโทรทัศน์ ซึ่งแสดงข้อมูลที่เข้าใจง่ายและกระจายข่าวสารได้รวดเร็ว

แนวทางการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหวญี่ปุ่นมีมาตรฐานการก่อสร้างที่แตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ โดยใช้หลักการที่ว่า “ยอมให้โครงสร้างเสียหายแต่ต้องไม่พังถล่ม” เพื่อลดความสูญเสียในชีวิต