ในปี 2568 "ธุรกิจร้านอาหาร" ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ต้นทุนที่สูงขึ้น คู่แข่งที่ดุเดือด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยใช้ได้ผลในอดีตอาจไม่เพียงพอสำหรับอนาคต ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ
นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ "ต่อเพนกวิน" Founder & CEO of Penguin X Co.,Ltd. กล่าวว่า ร้านอาหารเผชิญกับ 4 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่
1. เศรษฐกิจขาลง กดดันกำไรธุรกิจ
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการยังต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้หลายร้านต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรักษายอดขายและกำไร
2. ต้นทุนเพิ่มขึ้น ธุรกิจต้องแบกรับภาระหนัก
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นถึง 20% จากช่วงก่อนโควิด ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มจากเดิม 30% เป็น 35% รวมถึงค่าธรรมเนียม GP (Gross Profit) ที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีมากกว่า 30% นำไปสู่การที่ร้านอาหารหลายแห่งขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มดำเนินกิจการ
3. คู่แข่งเพิ่มขึ้น การแข่งขันเดือดขึ้นทุกวัน
ธุรกิจร้านอาหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่องทางเดลิเวอรี ปัจจุบันข้อมูลจาก Lineman ระบุว่ามีร้านอาหารเดลิเวอรีมากกว่า 7 แสนร้าน ทำให้การแข่งขันเพื่อดึงดูดลูกค้ารุนแรงขึ้นกว่าที่เคย
4. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องสร้างการรับรู้ผ่านโซเชียลมากขึ้น
จากเดิมที่ร้านอาหารต้องแข่งขันกันเรื่องทำเลหน้าร้าน ปัจจุบันลูกค้าเลือกไปรับประทานที่ร้านใดร้านหนึ่งโดยอ้างอิงจากโซเชียลมีเดีย ทำให้ร้านอาหารต้องแข่งขันกันในด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดออนไลน์แทน
1. ร้านขนาดเล็กลง แต่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน (Small but Style)
การใช้พื้นที่ร้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจควรเน้นวัดยอดขายต่อตารางเมตร แทนที่จะขยายพื้นที่ใหญ่โต ตัวอย่างเช่น ร้านเผ็ดมาร์ค และ Haab ที่เริ่มจากร้านเล็กๆ แต่ทำอาหารได้ดีจนลูกค้าติดใจ
2. เมนูธรรมดาต้องมีความลึกขึ้น (Specialty Food)
ลูกค้าให้ความสนใจกับรายละเอียดของอาหารมากขึ้น เช่น ร้านข้าวมันไก่ที่เน้นความเป็น Specialty โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบอย่างละเอียด เช่น พันธุ์ข้าวและชนิดของไก่ที่ใช้
3. บริการน้อยลง แต่ประสบการณ์ต้องดีขึ้น (Less Service, Better Experience)
การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน เช่น ระบบกดสั่งอาหารอัตโนมัติ หรือ Chatbot ช่วยตอบคำถามลูกค้า ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
4. เพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบที่มีอยู่ (Add-on Value)
การปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอสินค้า เช่น เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หรือวิธีการเสิร์ฟ ทำให้ดูพรีเมียมขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนมากนัก
5. เปลี่ยนจากการซื้อโฆษณาเป็นการสร้างสื่อเอง (Content Marketing)
ต้นทุนการทำโฆษณาออนไลน์สูงขึ้น ร้านอาหารควรเปลี่ยนมาเน้นทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น เพจ Jones Salad ที่ทำคอนเทนต์แนวสนุกสนานจนกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้
6. เปลี่ยนการขายใกล้เป็นการขายไกล (Food Retail & Packaged Food)
การขยายตลาดผ่านสินค้าอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารแช่แข็งหรือสุญญากาศ เพื่อลดข้อจำกัดของทำเลที่ตั้งและเพิ่มช่องทางการขายให้กว้างขึ้น
7. นำความเป็นท้องถิ่นมาสร้างเอกลักษณ์ (Local Identity & Authenticity)
ร้านอาหารสามารถนำจุดเด่นของวัตถุดิบหรือเมนูท้องถิ่นมาใช้สร้างความแตกต่าง เช่น ร้านอาจ้อโต๊ะแดงที่ใช้วัตถุดิบจากชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น หรือร้านจีเกียในขอนแก่นที่ผสมผสานอาหารอีสานกับสไตล์ญี่ปุ่น
8. เปลี่ยนลูกค้าเป็นผู้ช่วยขาย (Affiliate Marketing)
ในอนาคตร้านอาหารสามารถใช้กลยุทธ์ Affiliate Marketing เพื่อให้ลูกค้าช่วยโปรโมทร้านในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
9. เปลี่ยนคู่แข่งเป็นเครือข่าย (Co-opetition & Collaboration)
แทนที่จะแข่งขันกันอย่างรุนแรง ร้านอาหารสามารถสร้างความร่วมมือกับร้านอื่นๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า เช่น การรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมพิเศษหรือโปรโมชั่นร่วมกัน
ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม โอกาสยังมีสำหรับผู้ที่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นร้านขนาดเล็กที่มีสไตล์ชัดเจน การพัฒนาเมนูให้มีความลึก
การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการสร้างแบรนด์ผ่านคอนเทนต์ การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต