แพทองธาร ชูไทยร่วมวง EFTA - OECD เปิดโอกาสใหม่ นักธุรกิจยุโรป

19 ก.พ. 2568 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2568 | 15:55 น.

นายกฯ แพทองธาร หารือคณะผู้บริหาร สมาชิก EU-ABC และ EABC เน้นย้ำนโยบายรัฐบาลขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ยุโรป ชูโอกาสใหม่ หลังไทยร่วมวง EFTA - OECD ดึงดูดนักธุรกิจยุโรป

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาลนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) โดยมีผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียน ใน 5 สาขาธุรกิจ ได้แก่ สาขาการเงินและธุรกิจประกันภัย สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค สาขาการคมนาคม โลจิสติกส์ และพลังงาน สาขาเคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และสินค้าเกษตร และสาขาการให้คำปรึกษา เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและรับทราบนโยบายของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนยุโรป และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล พร้อมทั้งนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืน ความเจริญรุ่งเรือง และความครอบคลุม สนับสนุนการทำธุรกิจและการเติบโต เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 

โดยในระยะสั้น รัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลมุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การบริหารงาน การต่อต้านการทุจริต และนโยบายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

นายกฯ ยืนยันว่า ประเทศไทยเปิดรับต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยนโยบายที่ชัดเจนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการลงทุน จึงไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมที่จะลงทุนในประเทศไทยเท่าเวลานี้ พร้อมเชิญชวนคณะ EU-ABC และ EABC ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนยุโรป ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันแก่ทั้งสองฝ่าย

ขณะที่ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ที่ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 16 ของไทย และฉบับแรกของไทยกับยุโรป จะช่วยปูทางสู่การสรุปการเจรจา FTA ไทย-EU ให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความยืดหยุ่น และความมั่นคงให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน

นายโนเอล คลีเฮน รองประธานคณะกรรมการบริหาร EU-ABC กล่าวว่า EU-ABC ถือเป็นกระบอกเสียงของภาคเอกชนยุโรปในอาเซียน และมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและสร้างสรรค์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีการนำคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียนมาเยือนไทยเป็นประจำ 

พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเอกชนยุโรป และได้รับความสนใจทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่ยอดเยี่ยม และเป็นประตูสู่อาเซียน โดยจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจล่าสุด ภาคเอกชนยุโรปยังคงเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเฉพาะความสามารถในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และการฟื้นตัวจากโควิด-19 พร้อมเชื่อมั่นว่า FTA จะเป็นกลไกสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นางภารณี อดุลยพิเชฏฐ์ ประธาน EABC ประเทศไทย กล่าวว่า EABC พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเชื่อมั่นว่า FTA จะสามารถปลดล็อคศักยภาพของไทยในด้านการค้าและการลงทุน และทำให้ไทยกลายเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่ของโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ขณะนี้ 

นอกจากนี้ ยังชื่นชมความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใส และการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดย EABC พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลในสาขาที่มีศักยภาพเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล การดูแลสุขภาพ การเงิน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริการ