“ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวเครือ CP มองเศรษฐกิจไทยสดใส ดันค่าแรง 600 บาท

03 ก.พ. 2568 | 11:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2568 | 17:15 น.
1.8 k

“ธนินท์ เจียรวนนท์” มองเศรษฐกิจไทยอนาคตสดใส ในวิกฤตมีโอกาส แนะรัฐบาลตั้งเป้าหมายพร้อมงบประมาณพัฒนาการเกษตร พัฒนาคน เชื่อมเทคโนโลยี การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ยกระดับรายได้ประชาชน ชี้ค่าแรง 600 สามารถทำได้แน่นอน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในงาน “Chula Thailand Presidents Summit 2025” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำสู่อนาคตประเทศไทย ว่า ธุรกิจในอนาคตต่อจากนี้คือเรื่องเกี่ยวกับ AI ไฟฟ้า หุ่นยนต์ รถ EV โดรน ไปจนถึงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งเป็นธุรกิจในอนาคตที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งขณะนี้ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย มีกฎหมายรองรับแล้วสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัย ส่วนประเทศไทยยังขาดโรงไฟฟ้าที่สะอาดและราคาถูก และควรเสริมด้วยไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส

"เราอยู่ในยุคที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ ความปั่นป่วนทางการเมือง ความปั่นป่วนทางด้านเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจึงต้องสร้างนิสิตที่มีปัญญาในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อสามารถตอบโจทย์เป็นประโยชน์ 3 ด้าน คือ 1. ประเทศต้องได้ประโยชน์ 2.ประชาชนต้องได้ประโยชน์ และ 3.ผู้ผลิตถึงจะได้ประโยชน์ อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์เราผลิตสินค้าไปขายให้ประชาชน ถ้าประชาชนนิยมสินค้าของเราก็จะกลับมาสู่การสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสดใส"

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยถือว่าเต็มไปด้วยโอกาสท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวิกฤตก็มีโอกาส และในโอกาสก็มักมีวิกฤตสลับกันไปมา อย่างการท่องเที่ยวแบบฟรีวีซ่าถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง มีความพร้อม แต่อาจไม่เต็มกำลัง แน่นอนว่าด้านการท่องเที่ยวแบบฟรีวีซ่าเป็นช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด แต่รัฐบาลต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนการท่องเที่ยว ต้องตั้งเป้าหมายการท่องเที่ยวเพื่อให้รู้ว่าจะไปถึงระดับไหน เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มไหนในประเทศอะไร 

ถัดมาคือการศึกษาของไทย เรื่องนี้ก็สำคัญ สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาเรียนในประเทศไทยได้ไม่แพ้เรื่องการท่องเที่ยว โดยต้องมีงบประมาณ เป้าหมาย และสุดท้ายประเทศไทยจะได้อะไร สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้ชัดเจน

“ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวเครือ CP มองเศรษฐกิจไทยสดใส ดันค่าแรง 600 บาท

อีกเรื่องคือการเกษตรที่ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นรอบข้าง เพราะไม่มีแผนดินไหว ไม่มีพายุ มีเพียงน้ำท่วมกับแล้ง ควรมีงบประมาณทำถนนเข้าถึงพื้นที่ไร่นา ปรับที่ดิน และทำเรื่องชลประทาน เพราะจะช่วยเกี่ยวกับเพาะปลูกได้เป็นอย่างมาก จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่า แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งที่อยู่อาศัย ต้องช่วยกันศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาศัยนักวิชาการพร้อมกับคนเก่ง รวมถึงหุ่นยนต์เข้ามาใช้ ซึ่งการเกษตรจะใช้เทคโนโลยีมากที่สุด 

และเมื่อพูดถึงเกษตรต้องมีปุ๋ย มียาฆ่าแมลง สัตว์ก็ต้องมีอาหาร ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับไบโอเทคโนโลยี มีอุปกรณ์ IoT: Internet of Things เพื่อวัดความชื้น อุณหภูมิ ออกซิเจน เป็นต้น ต้องมีเรื่องการเจ็บป่วยของพืชและสัตว์ มีสัตวแพทย์ดูแลเหมือนคน โดยเชื่อมโยงไปถึงห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ทุกคน

นายนายธนินท์ กล่าวว่า สำหรับเจริญโภคภัณฑ์ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อไม่ให้การขายสินค้าเกิดความเสียหาย ซึ่งการเกษตรถือว่าเป็นน้ำมันบนดิน เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย ส่วนใหญ่กว่า 90% สามารถสร้างเป็นเงินของประเทศไทยได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างประชาชนให้มีรายได้ด้วยการศึกษาก่อน ต้องมีความรู้ มีปัญญา ทั้งเรียนและทำงานไปด้วยกัน เรียนจบต้องทำงานได้ทันที 

“ประเทศไทยเรามีคนไม่พอ เพราะประเทศไทยผลิตนิสิตนักศึกษาจบใหม่ 3 แสนกว่าคนต่อปี กว่าจะได้แรงงานถึง 5 ล้านคนต้องใช้เวลา 10 กว่าปี ถึงจะเพียงพอกับสัดส่วนการเสียภาษี และเรื่องนี้ต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาล เกี่ยวข้องกับประชาชน“

ขณะเดียวกัน นักธุรกิจก็ต้องทำหน้าที่ คิดถึงประชาชนด้วยถึงจะอยู่รอด เพราะขายสินค้าให้ประชาชน อยู่กับประชาชน ดังนั้นต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไงให้ประชาชนอยู่ได้ และมีรายได้สูงขึ้น เพราะหากประชาชนไม่มีกำลังซื้อก็ขายสินค้าไม่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศด้วย โดยจะสามารถสร้างรายได้แรงงานถึง 600 บาท/วัน ได้แน่นอน แต่ต้องสร้างพนักงานของบริษัทให้เก่งขึ้น รู้จักใช้ AI ใช้เทคโนโลยี ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“สุดท้ายผมก็เสนอว่าจะทำยังไงให้ประเทศไทยร่ำรวย คือต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจก็ต้องทำเพื่อประชาชน ทำให้ประชาชนร่ำรวยขึ้น รัฐบาลก็ต้องออกกฎเกณฑ์ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีด้วย"