นายสามารถ น้อยวัน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อหารือร่วมกับคณะผู้บริหารของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์
รวมถึงสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ โดยกำชับให้สมาคมชาวไร่อ้อยฯ และโรงงานน้ำตาลฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM 2.5 ไม่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนและชุมชนใกล้เคียง
ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังได้ติดตามความคืบหน้าการนำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาใช้ในพื้นที่ปลูกอ้อย 10,000 ไร่ของบริษัทฯ ตามข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับ สอน. เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยได้อย่างตรงจุด เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และเป็นไปอย่างยั่งยืน
ซึ่งโดรนจะติดตั้งระบบ AI เพื่อใช้ในการตรวจวัดคุณลักษณะอ้อยให้แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกอ้อยสดและอ้อยเผาไฟ ลดข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิต ช่วยรักษาคุณภาพน้ำตาลของโรงงาน
นอกจากนี้ สอน. ยังนำ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตตันต่อไร่และค่าความหวานของอ้อย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลสามารถวางแผนการเก็บเกี่ยวในช่วงที่อ้อยมีคุณภาพสูงสุด เพิ่มรายได้ให้กับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
อย่างไรก็ดี ได้ติดตามสถานการณ์การหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลในห้องชั่งของโรงงาน พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบลักษณะอ้อยว่าเป็นอ้อยเผาไฟ หรืออ้อยสดก่อนเข้าหีบ
สอน. ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการผลิตอ้อยสด เพื่อการมีส่วนร่วมกับสังคมไทยในการลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าการใช้โดรนและ AI จะช่วยป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย และสามารถขยายผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยผลิตอ้อยสดคุณภาพดีส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5