ธ.ก.ส.พร้อมรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ชู “สกต.สุรินทร์” ต้นแบบสหกรณ์การเกษตร

10 ม.ค. 2568 | 16:39 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 16:44 น.

ธ.ก.ส.พร้อมรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 67/68 คาดรองรับปริมาณข้าว 4.5 ล้านตัน ชู “สกต.สุรินทร์” ต้นแบบสหกรณ์การเกษตร มีสมาชิกกว่า 1.2 แสนราย

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปีการผลิต 2567/68 ตามนโยบายรัฐบาล กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 35,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท 

เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาด ป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2567/68 และสถาบันเกษตรกรที่รับรวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 

ธ.ก.ส.พร้อมรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ชู “สกต.สุรินทร์” ต้นแบบสหกรณ์การเกษตร

ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานประกอบอาชีพและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามจำเป็นในระหว่างชะลอการขายข้าวเปลือก สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บ และรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเองได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งคาดการณ์ว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถรองรับปริมาณข้าวเปลือกได้รวมกว่า 4.5 ล้านตัน 

ธ.ก.ส.พร้อมรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ชู “สกต.สุรินทร์” ต้นแบบสหกรณ์การเกษตร

สำหรับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด (สกต. สุรินทร์) ถือเป็นต้นแบบสหกรณ์การเกษตร ขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีสมาชิกกว่า 120,500 คน ที่มีชื่อเสียงในการดำเนินงานด้านการรับซื้อ - รวบรวมผลผลิตข้าวจากสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต 

โดยเริ่มจากการรับซื้อข้าวเปลือก ทั้งข้าวสดและข้าวแห้ง จากสมาชิกเกษตรกร โดยให้ราคาเฉลี่ยสูงกว่าตลาด เฉลี่ยตันละ 12,000 – 15,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงและลดความกังวลด้านความผันผวนของราคาข้าวในตลาดให้กับเกษตรกรในพิ้นที่ 

หลังจากนั้น สกต. จะนำข้าวไปจำหน่ายในรูปแบบของข้าวเปลือก และนำข้าวเปลือกมาแปรรูปด้วยการสีแปรข้าวเปลือกหอมมะลิไปสู่ข้าวสาร ด้วยโรงสีข้าวของสกต.สุรินทร์ ที่มีกำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน โดยวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวสารให้กับสมาชิกเครือข่ายสหกรณ์และร้านค้าในและต่างจังหวัด ภายใต้แบรนด์ “สกต.สุรินทร์” และ “A-Rice” รวมถึงการรับผลิตข้าวสารให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 

ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา สกต.สุรินทร์ สามารถผลิตและจำหน่ายข้าวสารได้ปริมาณกว่า 3,800 ตัน และสามารถสร้างรายได้เป็นเงินกว่า 116 ล้านบาท และยังได้เข้าร่วมมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ในปีการผลิต 2566/67 โดยสามารถรวบรวมข้าวได้ปริมาณกว่า 102,000 ตัน เป็นเงินกว่า 1,249 ล้านบาท 

ส่วนปี 2568 สกต.สุรินทร์ ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 ภายใต้วงเงินให้กู้กว่า 200 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายการรับซื้อข้าวสดจากสมาชิกเกษตรกร ราคาเฉลี่ยตันละ 12,000 บาท ซึ่งคาดการณ์ว่า จะสามารถรวบรวมข้าวเปลือกในรูปแบบของข้าวสดได้ เป็นจำนวนกว่า 80,000 ตัน เป็นเงินจำนวน 964 ล้านบาท

นอกจากนี้ สกต. สุรินทร์ ยังดำเนินงานด้านการรับซื้อและรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และยางพารา การผลิตและแปรรูปผลิตผลการเกษตร เช่น การแปรรูปข้าวเปลือก และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น รวมถึงจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่สมาชิก อาทิ ปุ๋ย พันธุ์พืช น้ำมัน และอุปกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวข้อง และมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกสกต. ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการเกษตร เช่น แปลงสาธิตเพื่อให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน และการปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผลต่าง ๆ เป็นต้น