5 ปรากฏการณ์แห่งปี 67 “หมีเนย-หมูเด้ง-ดิไอคอน-หมอบุญ-สินค้าจีน"

28 ธ.ค. 2567 | 10:36 น.
1.5 k

ในปี 2567 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงเศรษฐกิจ การตลาด ท่องเที่ยว สุขภาพและความงามมาต่อเนื่อง ถือเป็นประจำทุกปีก่อนจะโบกมือลาปีเก่า ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ที่จะรวบรวมเรื่องราวที่เป็นปรากฏการณ์แห่งปี 2567

“หมีเนย” จากมาสคอต สู่ขวัญใจมหาชน

“หมีเนย” มาสคอตสุดน่ารักจากร้านขนม Butterbear ที่สร้างปรากฏการณ์ห้างแตก กลายเป็นขวัญใจของคนไทยและแม่จีน ผู้ฉีกกฎมาสคอต มาร์เก็ตติ้ง จากไอเดียของ 2 พี่น้อง “บูม-ธนวรรณ และ เบลล์-ธนาภา วงศ์เจริญรัตน์” ทายาท “ดาว-ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์” เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง Coffee Beans by Dao

หลังจากเปิดตัวหมีเนยไปได้ไม่นาน ก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่หลงใหลในความน่ารักของ “หมีเนย” ปัจจุบัน Butterbear มีสินค้าลิขสิทธิ์มากกว่า 40 รายการ เช่น ตุ๊กตา เสื้อยืด แก้วนํ้า และอื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากแฟนคลับอย่างมาก ยังทำให้ยอดใช้จ่ายต่อบิลของ Butterbear เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 300 บาท เป็น 1,500 บาท และดันให้ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน มีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 30%

หมีเนย

ความสำเร็จของหมีเนย จากมาสคอตก้าวไปอีกขั้นด้วยการกลายเป็นไอดอลและพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ต่างๆ พร้อมกับแฟนคลับ “ชาวด้อมหมีเนย” ที่มีมัมหมี พ่อหมีเข้ามาเป็นสมาชิกมากกว่า 3 หมื่นคน และยังมีห้อง OpenChat ซึ่งมีผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 1 หมื่นคน

“หมีเนย” ยังก้าวเข้าเป็นศิลปิน ที่มีเพลงเป็นของตัวเองอย่าง “น่ารักมั้ยไม่รู้” ซึ่งปัจจุบันยอดวิวสูงถึง 16 ล้านวิว และซิงเกิลใหม่ “ฮีลใจ” ซึ่งมียอดวิว 4.6 แสนวิวภายใน 1 เดือน ความร้อนแรงยังไม่หยุดเท่านี้กับการมีคอนเสิร์ตแฟนมีตติ้ง ครั้งแรกที่ได้กระแสตอบรับล้นหลามประหนึ่งศิลปินดังระดับประเทศความสำเร็จของหมีเนยสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการตลาดผ่านตัวละคร (Mascot Marketing) ที่สามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง

“หมูเด้ง” ลูกฮิปโปโปแคระ ดังไกลทั่วโลก

ปี 2567 นับเป็นปีทองของวงการสัตว์โลกและการท่องเที่ยวไทย เมื่อปรากฏการณ์ “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปโปเตมัสแคระน้อยน่ารักจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ. ชลบุรี กลายเป็นไวรัลทั่วโลก จนกลายเป็นซุปตาร์ตัวน้อยที่ใครๆ ก็หลงรัก หมูเด้งเกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 เป็นลูกของพ่อโทนี่และแม่โจนา ฮิปโปแคระน่ารักประจำสวนสัตว์ ด้วยรูปร่างกลมป๊อก ตาโต และผิวสีนํ้าตาลอบชมพูบวกกับนิสัยขี้เล่นซุกซน ทำให้หมูเด้งกลายเป็นขวัญใจของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ

ทันทีที่คลิปวิดีโอและภาพถ่ายน่ารักๆ ของหมูเด้งถูกแชร์บนโซเชียล มีเดีย ชื่อของ “หมูเด้ง” ก็กระฉ่อนไปทั่วโลก กลายเป็นตัวแทนของความน่ารักและความเป็นมิตรของคนไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

หมูเด้ง

ปรากฏการณ์หมูเด้ง ช่วยให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น เพราะหากเทียบกับก่อนที่น้องหมูเด้งจะเกิด มีคนเข้ามาเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียว 7 หมื่นคนต่อเดือน ในเดือนก.ค. 67 มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 8.4 หมื่นคน เดือนส.ค. 67 เพิ่มเป็น 9.8 หมื่นคน และสถิติล่าสุด เดือนก.ย. 67 เพิ่มเป็น 1.62 แสนคน (ข้อมูลจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว)

พร้อมทั้งสร้างรายได้มากกว่า 40 ล้านบาท นับเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนโดยรอบสวนสัตว์เปิดเขาเขียว มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ส่งผลให้ภาพรวมการท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีดีขึ้น และไม่กระจุกตัวอยู่แค่พื้นที่ศรีราชา แต่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น พัทยา และบางแสน

ปรากฏการณ์หมูเด้งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวที่น่ารักและฮีลใจ แต่ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังความน่ารักของสัตว์โลก ที่สร้างความสุขและผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ขายตรงหรือขายฝัน “ดิไอคอน กรุ๊ป”

คลื่นใต้นํ้าในวงการธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงปั่นป่วน เมื่อ “บอสพอล” หรือ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ถูกกล่าวหาว่าดำเนินธุรกิจในลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ โดยมีเซเลบริตี้ ดารา และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังหลายรายเข้าร่วมโปรโมทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ “The iCon Group”

ต้นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อมีผู้เสียหายจำนวนมากออกมาร้องทุกข์ว่าไม่สามารถทำกำไรจากการขายสินค้าได้ตามที่บริษัทอ้าง และไม่สามารถถอนเงินคืนได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าธุรกิจของ The iCon Group อาจเป็นรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่หลอกลวงประชาชน และเมื่อกลายเป็นคดีความพบว่ามีผู้เสียหายมากถึง 7,875 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,644 ล้านบาท

ปรากฏการณ์แห่งปี 2567

ล่าสุด (23 ธ.ค. 67) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ยื่นฟ้อง 19 ราย (บอส 18 คนและ 1 นิติบุคคล คือบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด) ใน 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) 2. ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

3. ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต 4. ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ 5. ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

คดีนี้ยังสร้างความฮือฮาทำหลายคนหันมาจับตามอง เพราะเชื่อมโยงไปยังบุคคลหลากหลายทั้งในวงการนักการเมือง บันเทิง คนมีสี ที่ยังต้องเฝ้าดูว่า ก๊อก 2 ก๊อก 3 ที่จะเกิดขึ้นจะมีใครบ้างในปี 2568

เขย่าวงการเฮลท์แคร์ “หมอบุญ” หลอกลงทุนโปรเจ็คทิพย์

ฟ้าผ่า! วงการเฮลท์แคร์ไทย ถือเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปี สำหรับข่าวออกหมายจับ “หมอบุญ” นายแพทย์บุญ วนาสิน อดีตประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน และคดีเกี่ยวกับเช็ค ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญคือการอ้างชักชวนให้มาลงทุนใน 5 โครงการใหญ่ที่มีหมอบุญเป็นผู้ริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็น โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า พื้นที่ 7 ไร่ งบลงทุน 4,000 ล้านบาท 2.โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา พื้นที่ 5 ไร่เศษ งบลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท 3.โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว จำนวน 3 แห่ง 4.โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม งบลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้าง Medical Intelligence งบลงทุนราว 100 ล้านบาท

แต่โครงการทั้งหมดเหมือนเป็น “โครงการทิพย์” ที่ไม่เกิดขึ้นจริง

แท้จริงแล้วสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของการร่วมลงทุนครั้งนี้ เริ่มมีกลิ่นเมื่อ “หมอบุญ” ออกมาปฏิเสธถึงกรณีการทุจริตและตัวเลขเงินในบัญชีที่หายไป 210 ล้านบาทว่า เป็นการเข้าใจผิดภายในองค์กร หลัง THG ตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด หรือ THB และ บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด หรือ THH ที่ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD)

ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มครอบครัววนาสิน เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 6 รายการคิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท และ THB ยังให้กู้เงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด จำนวน 10 ล้านบาท ส่วน THH มีรายการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 2 รายการ ยอดเงิน 55 ล้านบาท

ขณะที่ “หมอบุญ” เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และยังไม่รู้บทสรุปที่เกิดขึ้น แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นถือเป็นการเขย่าขวัญวงการเฮลท์แคร์ไทย ที่กำลังรุ่งโรจน์อยู่ในขณะนี้

ทัพสินค้าจีนทะลักตลาดไทย

เป็นปรากฏการณ์ ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ที่ต้องพูดถึงในปี 2567 เมื่อทัพสินค้าจีนบุกทะลักเข้าประเทศไทย ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนในปี 2566 สูงถึง 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของไทย และ 5 กลุ่มสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้า 43.3%2. ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง 10% 3. เสื้อผ้าและรองเท้า 9.3% 4. เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1% และ 5. ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9%

แม้คนไทยจะชื่นชอบสินค้าดีมีคุณภาพ มากกว่าสินค้าจีนบางอย่างที่ยังไม่ได้มาตรฐานมากนัก แต่หากราคาสูงก็มักไม่ได้รับความนิยม ขณะที่สินค้าราคาถูกมักเป็นทางเลือกที่คนเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยสินค้าจีนเข้ามาในประเทศไทยจะผ่านทุกทิศทุกทาง ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในลักษณะลักลอบนำเข้า ทำให้การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานสินค้าเป็นไปได้ยาก การผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาสินค้า เพิ่มคุณภาพ สร้างแบรนด์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยังไม่เพียงพอให้สู้ศึกในตลาดได้ ทำให้จากจีนที่เริ่มรุกตลาดเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2567 ยังมีสถานการณ์สำคัญสะเทือนตลาดโลก ส่งผลกระทบโดยตรงมายังเอเชียและภูมิภาคอาเซียน เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และมีนโยบายขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรมหลายรายระบุว่า นโยบายของสหรัฐอเมริกาจะปิดกั้นสินค้าจากจีน และส่งผลให้การแข่งขันของภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียดุเดือดขึ้น ฉะนั้นแนวโน้มสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในปี 2568

ชั่วโมงจึงต้องจับตาดูว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลไทยจะมีมาตรการเข้มข้นใดมาสกัดกั้นการเข้ามาถล่มตลาดของสินค้าจีน ที่นับวันจะรุกคืบมากขึ้นๆ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 4057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568