วันนี้ 24 ธันวาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ การก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ของกรมทางหลวง หรือ M5 เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP มูลค่ารวมทั้งสิ้น 79,916.78 ล้านบาท
สาระสำคัญ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีดังนี้
แนวเส้นทาง : เป็นการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ รวมระยะทางประมาณ 22 กม. เริ่มต้นตั้งแต่ ปลายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ณ บริเวณโรงกษาปณ์ ไปจนถึงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการก่อสร้างทางยกระดับอยู่บนเกาะกลาง ถ.พหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง จำนวน 7 แห่ง
รูปแบบการลงทุน : เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง เป็นเจ้าของโดยมีหน้าที่ เช่น เวนคืนที่ดิน กำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชน และเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ
ค่าใช้จ่าย : รวมทั้งสิ้น 79,916.78 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทาง (Availability Payment) (ค่า AP) จากภาครัฐ โดยมีหน้าที่ เช่น ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานโยธา รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน 77.78 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณปี 67 และค่า AP 79,839 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน = 47,881 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง
ระยะเวลาโครงการ : รวมทั้งสิ้น 34 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
1. ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี
2 . ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี (นับจากวันเปิดให้บริการ)
ส่วนค่าผ่านทาง : รถยนต์ 4 ล้อ 20 หรือ 40 บาทต่อคัน และรถยนต์มากกว่า 4 ล้อ 30 หรือ 65 บาทต่อคัน (ปรับขึ้นทุก 5 ปี ในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี)
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่เลขา ครม. สรุปความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มา จะเห็นว่า ความเห็นของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อสังเกตหลายประเด็น ขอให้รองเลขา สภาพัฒน์ฯ ได้ยืนยันกับ ครม. ว่า โครงการนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ โดยครม. จะอนุมัติวันนี้ จะเป็นกรอบที่ทาง กระทรวงคมนาคม นำไปใช้คัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ จึงขอย้ำให้ทางคมนาคม ดำเนินการคัดเลือกและต่อรองราคา เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุม ครม.อนุมัติ ตามที่คมนาคม เสนอ และให้รับความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาด้วย