ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ฉุกเฉินฯ รับมือ "อหิวาตตกโรค" ระบาด

22 ธ.ค. 2567 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2567 | 14:42 น.

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จังหวัดตาก รับมือ "อหิวาตกโรค" ล่าสุดพบผู้ป่วย 2 รายเข้ารักษาที่แม่สอดและแม่ระมาด หากพบผู้ป่วยหรือคนท้องเสีย รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่วน

สถานการณ์อหิวาตกโรคที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ว่า อำเภอแม่ระมาดและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ตรงข้ามกับเมืองฉ่วยโก๊กโก่ มีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน อีกทั้งช่วงปีใหม่จะมีการจัดงานรื่นเริง พบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน

ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ฉุกเฉินฯ  รับมือ \"อหิวาตตกโรค\" ระบาด

วันที่ 22 ธันวาคม 2567  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จังหวัดตาก เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดได้รับรายงานว่า เมืองฉ่วยโก๊กโก่มีผู้ป่วยรวม 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่ 56 ราย ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนทีมปฏิบัติการช่วยสอบสวนโรคและวางแนวทางการป้องกันควบคุมโรคในฝั่งเมียนมา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ชาวเมียนมา เฝ้าระวังคนไทยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง และเน้นการเฝ้าระวังเชิงรุกในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชุมชนชายแดน โรงงาน ศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดน โดยให้ร้านยา ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) คอยสอดส่อง

 

หากพบผู้ที่มีอาการท้องเสียแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีเพื่อเร่งตรวจสอบ พร้อมทั้งดูแลน้ำอุปโภคบริโภคให้สะอาด วัดและเติมคลอรีนให้เพียงพอตามมาตรฐาน และเฝ้าระวังการจัดกิจกรรมที่มีการขายอาหาร รวมถึงอาจให้มีการตรวจหาเชื้อในผู้ค้าหากจำเป็น ทั้งนี้ ได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำการสำรวจยา เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์จำเป็น ทั้งยา น้ำเกลือ คลอรีน ชุดตรวจหาเชื้อในอุจจาระ และ Rapid test เพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมแล้ว

กรมควบคุมโรคติดต่อ ให้ข้อมูลรายละเอียด "อหิวาตกโรค (Cholera) (Cholera)"

ลักษณะโรค

เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1

การวินิจฉัยโรค

ใช้วิธีการเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield หรือ phase contrast จะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่แบบเฉพาะของเชื้อ Vibrio ซึ่งจะถูกยับยั้งด้วย antiserum จำเพาะ ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อใหม่ๆ การแยกเชื้อต้องยืนยันด้วยการทดสอบทางชีวเคมีเบื้องต้น ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบดูด้วยว่าเชื้อโรคผลิตสารพิษด้วยหรือไม่ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตโรคประจำถิ่น เชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรายแรกๆ ต้องยืนยันโดยการทดสอบทางชีวเคมีและซีโรโลยี่ที่เหมาะสมและสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นด้วย

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ)1 ซึ่งมี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ Inaba, Ogawa และ Hikojima เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่าการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศสาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่คือ Vibrio cholerae O139

โดยที่ครั้งแรกตรวจพบสาเหตุการระบาดจากเชื้อ V. cholerae non O1 ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับ V. cholerae antiserun O2-O138 ซึ่งปรกติกลไกก่อโรคจากเชื้อกลุ่มนี้มิได้เกิดจาก Cholera toxin สายพันธุ์ใหม่ที่พบสามารถสร้าง Cholera toxin ได้เหมือน Vibrio cholerae O1 ต่างกันที่โครงสร้าง Lipopolysaccharides (LPS) ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อ อาการทางคลินิกและลักษณะทางระบาดวิทยาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงทุกประการ

ดังนั้นองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รายงานว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงด้วย สำหรับเชื้อ V. cholerae ในปัจจุบันมีถึง 194 serogroups การรายงานเชื้อที่ไม่ใช่ทั้ง O1 และ O139 ให้เรียกว่าเป็น V. cholerae non O1/non O139 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ เชื้อ V. cholerae non O1/non O139 บาง serotypes อาจผลิต cholera toxin ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจการสร้างสารพิษชนิดนี้ด้วยเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่

วิธีติดต่อ

ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ

ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้

 

การรักษาจำเพาะ

จำเป็นต้องรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยสารน้ำที่ประกอบด้วยสารละลายเกลือแร่ในปริมาณที่พอเพียงเพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดและภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถให้การรักษาโดยให้สารละลายดังกล่าวทางปาก ในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่สูญเสียไปโดยประมาณคือ ร้อยละ 5 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่เป็นน้อยร้อยละ 7 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่มีอาการปานกลาง และร้อยละ 10

 

ในผู้ป่วยมีอาการช็อค ควรให้น้ำเกลือ isotonic ทางหลอดเลือดทันที น้ำเกลือควรประกอบด้วยไบคาร์บอเนต (อะซิเตรต หรือแล็กเตตไอออน) 24-48 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตร และ 10-15 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตรของโปแตสเซียม เช่น Dacca solution หรือ Ringer’s lactate ภายหลังการให้สารน้ำทางหลอดเลือดจนกระแสไหลเวียนโลหิตดีขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนมาให้ทางปากได้เพื่อรักษาความคงตัวของสมดุลสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

 

การพิจารณาเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรใช้ข้อมูลการเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อทางห้องปฏิบัติการเพื่อทราบแนวโน้มการดื้อยาประกอบการพิจารณา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ในปัจจุบันสามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสม (First drug of choice) ในรายที่อาการรุนแรงให้พิจารณาในการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ tetracycline หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ จะช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะของการแพร่เชื้อลง

ยาปฏิชีวนะองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำการรักษาคือ

  • เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ให้ Norfloxacin 20 มก/กก/วัน นาน 3 วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 8 ปี ให้ Tetracycline 30 มก/กก/วัน นาน 3 วัน

 

  • ในผู้ใหญ่ให้

Tetracycline ครั้งละ 500 มก.วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วันหรือ

Doxycycline ครั้งละ 100 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วันหรือ

Norfloxacin ครั้งละ 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน (กรณีเชื้อดื้อต่อ Tetracycline)