นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากรกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา ISANNEXT พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ช่วงอนาคตประเทศไทย:อีสานเชื่อมโลก ว่า สำหรับโอกาสของประเทศไทยและภาคอีสานในการเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมไทยสู่โลก โดยการเชื่อมโยงด้านคมนาคมจนส่งจะเป็นกลไกหลักที่สำคัญเพื่อรองรับในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงและการขนส่งสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีประชากรโลก จำนวน 8,024 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มูลค่า 3,690 ล้านล้านบาท หากเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลกได้ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการทำการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะที่ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีเขตแดนใกล้กับไทย เพียงแต่มีประเทศสปป.ลาวกั้นอยู่
นอกจากนี้ประเทศจีนยังเป็นแหล่งการผลิตและการบริโภคที่สำคัญ ซึ่งมีประชากร จำนวน 1,410 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มูลค่า 623 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก ดังนั้นประเทศจีนจึงเป็นประเทศที่ไทยควรเชื่อมโยงในการเป็นสะพานเชื่อมไปยังการค้าโลก
“ประเทศไทยและประเทศจีน สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยง่ายผ่านการคมนาคม เท่ากับไทยสามารถเชื่อมต่อกับประชากรจีนกว่า 1 พันล้านคน โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านภาคอีสานออกไปยังจีนและตลาดภูมิภาคของโลกได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”
ขณะเดียวกันเมื่อมองในเศรษฐกิจไทยพบว่ามีประชากร 71 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มูลค่า 18 ล้านล้านบาท เล็กกว่าจีน 30-40 เท่าของจีน
หากมองในแถบภาคอีสานที่ยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าไม่สูงนัก ซึ่งมีประชาชนกรคิดเป็น 30%ของประเทศ แต่มีจีดีพีเพียง 1.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจของอีอีซี
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ไทยมีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน ซึ่งกระทรวงได้ดำเนินการทั้งระบบรางและถนน ดังนั้นการพัฒนายุทธศาสตร์ทางโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทางภาคอีสานจากสปป.ลาวสู่จีน จะเป็นการสร้างโอกาสทางภาคอีสานเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ภาคอีสานจำเป็นต้องเตรียมมือกับโอกาสด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้นจะปล่อยให้ภาคอีสานเป็นเพียงแค่ทางผ่านของความเจริญที่จะเกิดขึ้นอนาคตอันใกล้
ด้านนโยบายของภาครัฐมีแผนเดินหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่ รวมทั้งการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เพื่อรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาสนามบินและเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค
สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงระหว่างไทย - ลาว - จีน และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยว ดังนี้
ด้านการเร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC ให้เชื่อมต่อไปยังลาว เวียดนาม และจีนได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น เสร็จแล้ว
ส่วนรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย และชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2568 พร้อมนี้ได้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้พัฒนามอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ปัจจุบันใกล้เสร็จแล้วและจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์สายใหม่ร่วมกับระบบรางจากแหลมฉบัง - นครราชสีมา เร่งรัดเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ภายในปี 2568
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเชื่อมรางกับถนนเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งว่าจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นหรือนครราชสีมา เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ (Aviation Hub) ของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาทิ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตามยังมีแผนสร้างลานกลับลำอากาศยานของท่าอากาศยานนครราชสีมา และสนับสนุนให้มีสายการบินพาณิชย์มาทำการบินให้มากขึ้น ขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่นและนครพนมให้สามารถรองรับจำนวนอากาศยานได้มากขึ้น และศึกษาออกแบบต่อเติมขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานร้อยเอ็ดและเลย ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้