ชูบทบาท “รองนายทะเบียน” ขับเคลื่อนสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งด้วยกฎกระทรวงใหม่

15 ธ.ค. 2567 | 21:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2567 | 21:50 น.

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เน้นย้ำบทบาทสำคัญของสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ เดินหน้าผลักดันกฎกระทรวงใหม่ 2 ฉบับ ชี้เป้าความชัดเจนในการดำเนินกิจการและการลงทุนของสหกรณ์ เพื่อสร้างสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ยกระดับรายได้สมาชิก และแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ย้ำ “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์” เน้นความสำคัญของกฎกระทรวงฉบับใหม่จำนวน  2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภท อีกฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการฝากเงินและลงทุนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยรองนายทะเบียนสหกรณ์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการกำกับดูแลงานสหกรณ์ได้อย่าง  มีประสิทธิภาพ

ชูบทบาท “รองนายทะเบียน” ขับเคลื่อนสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งด้วยกฎกระทรวงใหม่

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ว่า ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการขับเคลื่อนสหกรณ์ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และเชื่อมโยงกับกฎกระทรวงฉบับใหม่ 2 ฉบับซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567

ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภทที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 และกฎกระทรวงการฝากเงินและลงทุนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

ชูบทบาท “รองนายทะเบียน” ขับเคลื่อนสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งด้วยกฎกระทรวงใหม่

สำหรับผู้ได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ ให้ทำหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์คือ สหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญเนื่องจากได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนสหกรณ์ให้ดำเนินการต่างๆ เช่น การจดทะเบียนสหกรณ์ การกำกับดูแล และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสหกรณ์ การใช้อำนาจดังกล่าวต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์ และระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าวว่า “กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภทซึ่งออกตามความของกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ มาตรา 33/1 ได้ให้คำนิยามคำว่า "อาชีพหลัก" ซึ่งสร้างความชัดเจนให้กับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ 7 ประเภทได้แก่

ชูบทบาท “รองนายทะเบียน” ขับเคลื่อนสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งด้วยกฎกระทรวงใหม่

  1. สหกรณ์การเกษตร
  2. สหกรณ์ประมง
  3. สหกรณ์นิคม
  4. สหกรณ์ร้านค้า
  5. สหกรณ์บริการ
  6. สหกรณ์ออมทรัพย์
  7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ชูบทบาท “รองนายทะเบียน” ขับเคลื่อนสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งด้วยกฎกระทรวงใหม่

“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้คือ จะช่วยให้สหกรณ์แต่ละประเภทมีความชัดเจนในการรับสมัครสมาชิก และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ทำให้ทราบว่า สมาชิกของสหกรณ์คือใคร ประกอบอาชีพอะไร และสหกรณ์ดำเนินธุรกิจในด้านใด สามารถรับการสนับสนุนหรือรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐได้ตรงจุดมากขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถส่งเสริมและแนะนำถึงการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในด้านต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามประเภทของสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้สหกรณ์พัฒนาและนำไปสู่สหกรณ์ที่มีความเข็มแข็ง รวมถึงสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกได้อย่างแท้จริง“ นายวิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย