กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งปีนี้ ได้ปรับลดเป้าหมายลงจาก 1.15 ล้านคันก่อนหน้า ลงเหลือทั้งปีที่ 1.05 ล้านคัน หรือลดลง 1 แสนคัน
ทั้งนี้รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมานานหลายสิบปี ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.30% ของมูลค่าการส่งออกไทยในภาพรวม ขณะช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่าส่งออก 9.08 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 10.26% ของการส่งออกไทยในภาพรวม ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ที่ลดลงในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ จากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ขยายวง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และมีทิศทางการยกระดับรุนแรงขึ้น กระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและบรรยากาศการจับใช้สอย ทำให้คนต้องประหยัด จากยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ข้างหน้า
สำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทยที่คาดจะลดลงเหลือระดับ 1.05 ล้านคันในปีนี้ ยังเป็นผลจากในปีที่ผ่านมาฐานตัวเลขการส่งออกสูง (ปีที่แล้วส่งออกได้ 1.117 ล้านคัน) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯตั้งใจจะตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 1.05 ล้านคัน เนื่องจากในปี 2566 ที่ส่งออกได้ 1.11 ล้านคัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานผลิตในไทยได้ผลิตทดแทนประเทศหนึ่งที่โรงงานมีปัญหาทำให้ผลิตไม่ได้
“ในปีที่แล้วฐานในไทยได้ผลิตทดแทน และส่งออกไปที่ประเทศหนึ่ง เพื่อให้เขามีรถขาย ทำให้ตัวเลขการส่งออกของเราก็กระฉูดขึ้นมา และยังมองในแง่ดี จึงตั้งเป้าการผลิตเพื่อส่งออกปีนี้ที่ 1.15 ล้านคัน แต่พอมีสงครามอิสราเอลกับฮามาส และลุกลามขยายวง ส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาติดลบ 20% บ้าง 27% บ้างในบางเดือน ก็เลยปรับลดเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกลงเหลือ 1.05 ล้านคันดังกล่าว”
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่ตามมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ และยอดการส่งออกที่ลดลงก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานรถยนต์หลายแห่ง รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่อเนื่อง ต้องปรับลดเวลาการทำงานลงเหลือ 2-3 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) และบางแห่งลดเงินเดือนพนักงานลงเหลือ 75%
สำหรับทิศทางการส่งออกรถยนต์ไทยในปี 2568 ในเบื้องต้นคาดการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ 1.05 ล้านคันเท่ากับปีนี้ ซึ่งจะมีการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร คงต้องรอดูตัวเลขการส่งออกของเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของปีนี้ก่อน โดยตัวเลขเป้าหมายการส่งออกที่ชัดเจนของปีหน้า จะมีการหารือและกำหนดเป้าหมายในช่วงเดือนมกราคม 2568
ทั้งนี้มองปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการกำหนดเป้าหมายการส่งออกคือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2568 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก 10-20% อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกขยายตัวลดลง
ขณะที่ตลาดรถยนต์ในหลายประเทศเริ่มมีการกวดขันเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปภายในของไทย ในทางกลับกันจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพไฮบริดของไทย
“หลายฝ่ายกังวลว่า จีนมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี หากมีเป้าหมายการส่งออกไปสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ อาจถูกขึ้นภาษีสูง 100-200% เหมือนรถยนต์ที่ผลิตในจีนและส่งออกไปสหรัฐ แต่ส่วนตัวมองว่าฐานผลิตรถยนต์จีนในไทย คงไม่มีเป้าหมายหลักไปตลาดสหรัฐที่อยู่ไกล เพราะไม่คุ้ม แต่คาดรถอีวีจีนที่ผลิตในไทยจะมีเป้าหมายการส่งออกไปตลาดเอเชีย อาเซียน ออสเตรเลีย หรือยุโรปมากกว่า
อย่างไรก็ดีต้องรอดูนโยบายหรือมาตรการที่แท้จริงของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ในเรื่องภาษี หรือมาตรการการค้าต่าง ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร”
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย และในตลาดต่างประเทศยังน่าห่วง จากเวลานี้เกือบทุกประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อหดตัว สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยกู้ เพราะกลัวเป็นเอ็นพีแอล ตลาดรถยนต์ในประเทศเวลานี้ มีรถยนต์ถูกยึดจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลของสหการประมูลมีมากถึง 250,000 คัน พอยึดมาไม่มีคนซื้อ รถมือสองราคาก็ตก ทำให้ขาดทุนทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมีรถอีวีจีนเข้ามาแชร์ตลาด และลดราคาแรงมาก ยิ่งไปกระทบราคารถยนต์มือสองตกต่ำลงไปอีก
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย มองในแง่โอกาสจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (New wave) ในหลายมิติ ของไทย
ทั้งนี้ การลงทุนของผู้ผลิตจีนช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขั้นสูง เช่น ระบบแบตเตอรี่, ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และเทคโนโลยี IoT ที่ใช้ในรถยนต์อัจฉริยะ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการลงทุน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศ
ส่วนความเสี่ยง หากรถยนต์แบรนด์จีนผลิตในไทยส่งออกไปสหรัฐ อาจถูกตรวจสอบ และใช้มาตรการเก็บภาษีสูง ในแง่มาตรการป้องกันผลกระทบ (เชิงรับ) ไทยต้องกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
“รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการใช้ Local Content ภายในประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้ไทยไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นเพียงประเทศฐานการผลิตของจีนเท่านั้น แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยสามารถเติบโตและอยู่รอดไปกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ด้วย” นายสนั่น กล่าว