สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (สคต.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระมรวงพาณิชย์ รายงานว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐกำลังเผชิญสถานการณ์ที่สับสนและอาจถึงขั้นเลวร้ายในปี 2025 โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างภาษีศุลกากร เครดิตภาษี และกฎระเบียบการปล่อยมลพิษที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุนแทบไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย
ทั้งนี้ สิ่งที่ชัดเจนคือราคายานยนต์ โดยเฉพาะต้นทุนของยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV) อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะสะท้อนว่าชาวอเมริกันต้องการหันไปใช้พลังงานสะอาดมากเพียงใด การติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อมูลและปัจจัยต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน
เริ่มต้นจากประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มจะลดทอนมาตรฐานการปล่อยมลพิษ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อผู้ผลิตยานยนต์ในการพัฒนายานยนต์ที่ไร้การปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ เขายังมีแนวโน้มที่จะยุติเครดิตภาษีมูลค่า 7,500 ดอลลาร์ สำหรับผู้ซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ริเริ่มในยุคของรัฐบาลไบเดน
จากสองปัจจัยดังกล่าวนี้ถือว่าสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากอยู่แล้ว และเมื่อเร็วๆนี้ ได้ประกาศแผนเสนอเครดิตภาษีการซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งอาจไม่รวมถึง Tesla ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ขณะที่ แคลิฟอร์เนียมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐ
นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังประกาศแผนการกำหนดภาษีศุลกากรร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโก และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 สำหรับ ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก การเพิ่มภาษีในเขตอเมริกาเหนือถือว่ามีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากในแต่ละปี สหรัฐผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 12 ล้านคัน แต่ต้องพึ่งพาการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกถึง 3-4 ล้านคัน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ยังเป็นแหล่งนำเข้าอะไหล่สำคัญที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 55 ของอะไหล่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในสหรัฐ
ในอนาคตราคาของรถยนต์ทุกรุ่นจะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์พลังไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าการคำนวณผลกระทบทั้งหมดจะมีความซับซ้อนและยังไม่แน่นอน แต่จากการประเมินของ Barron’s ราคาขายเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของยานยนต์พลังไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 12
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับยอดขายรถยนต์นั้นยังไม่ชัดเจนนัก ปัจจุบัน ชาวอเมริกันซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าประมาณ 946,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า โดยยานยนต์พลังไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ผู้บริโภคมักตอบสนองต่อราคาที่เพิ่มขึ้นด้วยการซื้อน้อยลง
ทั้งนี้ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สหรัฐฯ มีการผลิตเทียบเป็นร้อยละ 2.6 ของจำนวนที่ผลิตทั่วโลกในขณะที่มียานยนต์ใหม่ทุกชนิดขาย 16 ล้านคัน โดยสหรัฐฯ เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยานยนต์ เครื่องยนต์และอะไหล่รวมมูลค่า 1.84 ล้านล้านดอลลาร์ และส่งออก 720.2 พันล้านดอลลาร์ ทั่วทั้งประเทศมียานยนต์จำนวน 283.4 ล้านคันบนท้องถนน โดยมีเพียง 3 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย เทกซัสและฟลอริดาเท่านั้นที่มีการขายรถใหม่เกินกว่า 1 ล้านคันต่อปี และทั้ง 3 รัฐนี้ก็ยังครองสถิติจำนวนยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนใช้งานมากที่สุดในสหรัฐฯ อีกด้วย
ในปี 2022 มีการขายยานยนต์ใหม่จำนวน 13.6 ล้านคันและเก่าจำนวนเกือบ 39 ล้านคัน รวมแล้วมีมากถึง 52.2 ล้านคันทั่วประเทศ ซึ่งรถกระบะ Ford F-Series ครองยอดขายอันดับหนึ่งในการขายยานยนต์ทุกชนิดมานานถึง 42 ปีสะท้อนให้เห็นว่ารถกระบะเป็นยานยนต์ยอดที่มียอดขายสูงที่สุดของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ หากดูเฉพาะยานยนต์ประเภทรถกระบะ Ford F-Series ก็ครองยอดขายอันดับหนึ่งมานานถึง 47 ปี สะท้อนให้เห็นว่ายานยนต์ประเภทรถกระบะนั้นคือประเภทของยานยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ลำดับรองลงมา ได้แก่ รถ Crossover SUV, รถซีดานขนาดกลาง, รถ SUV ขนาดกลาง, รถขนาดเล็ก (Compact), รถมินิแวนและรถ SUV ขนาดใหญ่ตามลำดับ
สำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้าในสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มียอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV) มากกว่า 660,000 คัน มีการขยายตัวถึงร้อยละ 57 และในเดือนกันยายน 2023 ยอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้าสูงถึง 1 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในตลาด EV ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าถึงและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์พลังไฟฟ้า โดยในเดือนกันยายน 2023 ยอดขาย EV คิดเป็นร้อยละ 11 ของยอดขายรถยนต์ประเภท light-duty ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 8%
สคต. ไมอามี ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ด้วยเหตุที่นโยบายการสนับสนุนด้านพลังงานของสหรัฐฯ อาจจะปรับเปลี่ยนไปจากนโยบายปัจจุบันอย่างมาก และยิ่งจะเน้นให้ผลิตในประเทศมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวอาจจะต้องรื้อแผนกระบวนการและสายการผลิตที่ได้วางไว้ล่วงหน้าเป็นปีๆ ให้ดำเนินไปตามทิศทางที่ตรงกันข้าม ซึ่งในระยะแรกเริ่มนี้ น่าจะมีโอกาสรออยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีศุลกากรจากแหล่งผลิตยานยนต์แหล่งหลัก 2 แหล่ง ซึ่งได้แก่ แคนาดาและเม็กซิโก
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปทดแทนความต้องการที่ถูกจำกัดตามมาตรการดังกล่าว ก็ควรรีบปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสนั้น แต่ก็ต้องเตรียมการรับความเสี่ยงไว้ด้วยเช่นกัน และควรเริ่มเตรียมตัวหาความรู้และโอกาสเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวไว้แต่เนิ่น ๆ