จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 5/67 กระทรวงแรงงาน ได้มีมติเห็นชอบอนุญาตให้นักบินต่างชาติที่มาพร้อมเครื่องบินที่สายการบินเช่า (Wet Lease) สามารถทำงานในไทยได้เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เพื่อบินในเส้นทางการบินภายในประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่านักบินไทยขาดแคลน
วันนี้ (วันที่ 6 ธันวาคม 2567) กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย เผยว่า สมาคมนักบินไทยจะเข้ายื่นหนังสือกับกระทรวงแรงงานในเวลา 13:00 น.จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายแรงงานต่างด้าว ที่อนุญาตสายการบินเช่าเครื่องบินแบบ wet lease ให้นักบินต่างชาติบินในประเทศ
สมาคมนักบินไทย ขอคัดค้านกรณีที่ กระทรวงแรงงาน ได้มีมติเห็นชอบอนุญาตให้นักบินต่างชาติที่มาพร้อมเครื่องบินที่สายการบินเช่า (Wet Lease) สามารถทำงานในไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่อบินในเส้นทางการบินภายในประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่านักบินไทยขาดแคลนนั้น สมาคมนักบินไทยขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
สถานการณ์นักบินไทยในปัจจุบัน อ้างอิงจากรายงานการแก้ไขปัญหานักบินไทยว่างงานและส่งเสริมการสร้างโอกาสไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ปี 2566 นักบินในสายการบินพาณิชย์ของไทยมีจำนวน 3,024 คน นักบินพาณิชย์ที่มีประสบการณ์ที่ถูกให้ออกจากงานช่วงโควิด-19 กว่า 1,026 คน นักบินที่เรียนจบโรงเรียนการบิน ที่ถือใบอนุญาต CPL และยังรองานสายการบิน 1,219 คน
จากข้อมูลดังกล่าวชี้ชัดว่าประเทศไทยมิได้ประสบปัญหาการขาดแคลนนักบิน แต่กลับมีนักบินจำนวนมากที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน การอ้างถึงปัญหาขาดแคลนนักบินในการออกมตินี้จึงอาจขาดความถูกต้องบนพื้นฐานของข้อมูลจริง
การอนุญาตให้นักบินต่างด้าวสามารถปฏิบัติการบินในเส้นทางบินในประเทศได้นั้น จะทำให้นักบินต่างด้าวเข้ามาแย่งงานนักบินไทยที่ยังว่างงานอยู่สืบเนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานนักบินที่ยังได้รับผลกระทบจากการหดตัวของอุตสาหกรรมในช่วงเหตุการณ์โควิด-19
สมาคมนักบินไทยเห็นว่ามติดังกล่าวขัดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านแรงงาน โดยเฉพาะในแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มุ่งพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต การอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในเครื่องบิน Airbus A320 ซึ่งนักบินไทยมีความชำนาญอยู่แล้ว มิได้ช่วยยกระดับหรือเพิ่มขีดความสามารถของนักบินไทย แต่กลับส่งผลกระทบต่อโอกาสการทำงานของพวกเขา
สมาคมนักบินไทยยังมีความกังวลว่าการออกมติเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกในปีต่อๆไปและจะทวีความรุนแรงมากขึ้น กล่าวคือสายการบินใดๆจะทำการเช่าเครื่องบินแบบ wet lease ที่มาพร้อมนักบินต่างชาติ ได้อย่างแพร่หลายและทำการบินในประเทศได้อย่างเสรี
โดยหากทุกปีมีการอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำการบินครั้งละ 6 เดือน สมาคมฯเชื่อว่าการดำเนินการลักษณะนี้จะกระทบการจ้างงานและการผลิตนักบินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านการบินในภูมิภาคนี้
สมาคมนักบินไทยมีความกังวลว่าการออกมติดังกล่าวอาจนำไปสู่การอนุญาตในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากมีการอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำการบินในประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือนในทุกปี อุตสาหกรรมการบินไทยจะต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กระทบการจ้างงานของนักบินไทย และบั่นทอนศักยภาพด้านการบินของประเทศในระดับภูมิภาค
นอกจากนั้นการอนุญาตให้นักบินต่างด้าวเข้ามาทำงานขับขี่ยานพาหนะนี้อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง เช่น อาจมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามารับทำงานในการขับขี่และบังคับโดรนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสำรวจ ฯลฯ ในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเช่นกัน
การอนุญาตให้นักบินต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการบินในประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่สนใจเข้าสู่อาชีพนักบิน การมองว่าอาชีพนี้ไม่มีความมั่นคง อาจทำให้ผู้สนใจเลือกอาชีพอื่นที่มีต้นทุนการศึกษาและความเสี่ยงน้อยกว่า ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตนักบินทั้งในโรงเรียนการบินและสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการบิน ซึ่งอาจนำไปสู่การลดทอนคุณภาพและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย
จากนั้นจะไปยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคม เวลา 15:00 น.เพื่อยื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้สายการบินจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease
เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงตามอนุสัญญาชิคาโก 1944 และภาคผนวก ที่ใช้เป็นกรอบในการทำการตรวจสอบการดำเนินการด้านการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของรัฐภาคี ตามโครงการ USOAP หรือ (Universal Safety Oversight Audit Program) ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการดำเนินการของรัฐภาคี ว่าเป็นไปตามข้อตกลงตามอนุสัญญาและมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการบินพลเรือนหรือไม่
โดยมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ทางเลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้เคยทำหนังสือทวงถามท่าทีของประเทศไทย ต่อมติที่แจ้งเตือนให้รัฐภาคีเข้าร่วมลงนามให้สัตยาบันในมาตรา 83 อนุ ของอนุสัญญาดังกล่าว และนำมาออกเป็นกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับข้อมติดังกล่าวในเรื่องการถ่ายโอนอำนาจและขอบเขตในการกำกับดูแลและความรับผิดชอบของรัฐในกรณีมีการเช่าเครื่องบินที่จดทะเบียนในรัฐหนึ่งมาดำเนินการในอีกรัฐหนึ่ง และประเทศไทยก็ได้ตอบหนังสือดังกล่าวกลับไป เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559
ทางสมาคมนักบินไทย ในฐานะสมาคมวิชาชีพด้านการบิน ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากมีการอนุญาตให้มีการดำเนินการเช่าเหมาลำตามเงื่อนไขดังกล่าว ด้วยการพิจารณาอนุญาตให้ทำการเช่าเครื่องบินจากรัฐอื่นเข้ามาทำการบินในนามของผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการเดินอากาศที่ออกให้ โดยที่ประเทศไทยที่ยังมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาในมาตราดังกล่าวนั้น
จึงมีความเห็นที่จะขอให้ทางกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาประเด็นต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบในภายภาคหน้า ทั้งในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และในแง่ของการให้การอนุญาตอย่างรอบคอบ เช่น
1. การที่ประเทศไทยยังมิได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาตามมาตรา 83 อนุ ของอนุสัญญาชิคาโก โดยอาจอาศัยข้อตกลงแบบทวิภาคีระหว่างประเทศไทยในฐานะรัฐของผู้ดำเนินการเดินอากาศกับรัฐผู้จดทะเบียนอากาศยานที่ให้เช่านั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และเกิดการกำกับดูเลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล (ซึ่งความหมายของคำว่า “มาตรฐานสากล” นั้นได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน พรก.
2. การพิจารณาว่า พรบ.เดินอากาศ พ.ศ. 2497 ฉบับแก้ไขที่ 14 มีมาตรา 33/1 รองรับนั้น เพียงพอตามข้อกำหนดของอนุสัญญาโดยที่จะไม่สร้างปัญหาต่อการตรวจสอบตามโครงการ USOAP เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และจะรับรองมิให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศอย่างไร หากการตรวจสอบมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 (ไทยติดธงแดง)
3. การอนุญาตให้นักบินต่างด้าวสามารถปฏิบัติการบินในประเทศได้นั้น จะทำให้นักบินต่างด้าวเข้ามาแย่งงานนักบินไทยที่ยังว่างงานอยู่สืบเนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานนักบินที่ยังได้รับผลกระทบจากการหดตัวของอุตสาหกรรมในช่วงเหตุการณ์โควิด-19
4. การอนุญาตให้นักบินต่างด้าวเข้ามาทำงานขับขี่ยานพาหนะนี้อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง เช่น อาจมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามารับทำงานในการขับขี่และบังคับโดรนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสำรวจ ฯลฯ ในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานฯ อยู่เช่นกัน