นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% นาน 3 ปีนั้น ยืนยันว่า ไม่มีผลต่อระดับหนี้สาธารณะไทย ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 63%บวกลบ จากเดือนต.ค.67 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 62.33%ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ การชำระหนี้ FIDF ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับภาระการชำระทั้งหมด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย มีเพียงสถานะเท่านั้น ที่ถูกบรรจุเข้ามาในรายการหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมูลหนี้ FIDF คงเหลือประมาณ 5 แสนล้านบาท ประมาณการว่าจะครบกำหนดในปี 2575 โดยหากมีการลดเงินนำส่งจะส่งผลให้ระยะเวลาการชำระหนี้ยืดออกไปประมาณ 1 ปี 6 เดือน
“การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ไม่ได้มีผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ แต่ระยะเวลาในการชำระหนี้จะขยายออกไป และการลดเงินนำส่ง 1 ปี จะมีผลต่อสัดส่วนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 100-500 ล้านบาท ยืนยันว่า ส่วนนี้ไม่ได้มีผลต่อภาระงบประมาณของรัฐบาล แต่เป็นภาระของธปท.”
อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ธปท. ได้ประเมินผลถึงการลดเงินนำส่ง FIDF แล้วว่ามีความคุ้มค่าจึงดำเนินการ เพราะหากมองในภาพรวมประโยชน์การลดเงินนำส่งก็กลับไปช่วยสถาบันการเงินเอง ซึ่งหนี้ที่จะช่วยเหลือตามนโยบายนั้นยังไม่เสีย เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ก็จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้
สำหรับการดูแลลูกหนี้ตามนโยบายของรัฐนั้น ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เบื้องต้น จะเป็นการพักดอกเบี้ย และผ่อนเฉพาะเงินต้น เพื่อดูแลให้กลุ่มนี้สามารถผ่อนชำระหนี้และไปต่อไป โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขการเข้าร่วม ได้แก่
“จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ขณะนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียบ้านมีอยู่ 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท กลุ่มหนี้เสียรถยนต์ มีอยู่ 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มเอสเอ็มอี 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.5 แสนล้านบาท”