นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ทางม.หอการไทยได้มีการประเมินผลกระทบของนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" ต่อเศรษฐกิจไทยและทิศทางการส่งออกไทยปี 2568 โดยมีนโยบายหลักประกอบไปด้วย
1. นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีและกฎระเบียบ เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจ ใช้นโยบายการค้าเชิงรุกเพื่อสร้างงานและขยายเศรษฐกิจ
2. นโยบายภาษี เน้นลดภาษีทั่วไป โดยเฉพาะภาคธุรกิจและชนชั้นกลาง โดยเสนอลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 20% ใช้รายได้จากภาษีนำเข้า 10% มาชดเชยการลดภาษีในประเทศ
3. นโยบายการค้าระหว่างประเทศเน้นนโยบายกีดกันทางการค้า ด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม 10% จากทุกประเทศ และจากจีน 60%
4. นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ผ่านภาษีนำเข้า ลดกฎระเบียบ ลดการพึ่งพาจีนในอุตสาหกรรมสำคัญ
5. นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนนโยบายพลังงานได้ทุกรูปแบบ ต่อต้านข้อตกลงปารีสและมองว่าการลงทุนด้านสภาพพูมิอากาศเป็นภาระ
6. นโยบายแรงงานและสวัสดิการสังคม เน้นการสร้างงานผ่านการลดภาษีและกฎระเบียบ จำกัดการเข้าเมืองเพื่อปกป้องตำแหน่งงานให้คนอเมริกัน
7. นโยบายการเงิน มุ่งลดความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย
8. นโยบายการลดการขาดดุลงบประมาณ เน้นมาตราการทางการค้า ภาษีนำเข้า ลดการใช้จ่ายภาครัฐ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ หากในปี 2568 ทรัมป์ดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดกับไทย ได้แก่
ขณะที่ ผลกระทบทางอ้อม เมื่อจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้ ชิ้นส่วนของไทยที่ส่งออกไปจีน เช่น ชิปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้าต่าง ๆ จะลดลง มูลค่าการค้ากับจีนจะหายไป 49,105 ล้านบาท และเมื่อจีนได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อีก 60% มูลค่าการส่งออกจึงสูญหายไปถึง 350,660 ล้านดอลลาร์ สิ่งที่น่ากังวลคือ สินค้ากลุ่มที่จีนส่งออกไม่ได้จะทะลักเข้ามาที่ไทยแทน
นอกจากนี้ ประเทศไทยถือว่ามีดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกินดุลอยู่อันดับที่ 9 และจากข้อมูลย้อนหลังพบว่าไทยมีการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ด้านการส่งออกสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แม้จะลดลงบ้างในปี 2018 แต่จากนั้นก็สูงขึ้นมาตลอด อีกทั้งไทยยังคงพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 7.2% ซึ่งเป็นการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียง 61% เท่านั้น และมีการพึ่งพาตลาดโลก 39% ดังนั้นเมื่อโลกเเย่ สหรัฐฯแย่ ไทยก็แย่ไปด้วย
สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐสูงที่สุดคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 10,477 ล้านดอลลาร์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 9,502 ล้านดอลลาร์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง 4,529 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นโอกาสตลาดส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ เป็นการทดแทนตลาดสินค้าจีน ทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ของเล่นเกมและอุปกรณ์กีฬา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์
นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบทางตรงการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ จะลดลง 108,714 ล้านบาท และทางอ้อมการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีนและสหรัฐฯ จะลดลง 49,105 ล้านบาท การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน รวมแล้วสูงถึง 160,472 ล้านบาท มีผลทำให้ GDP ไทยหายไป 1% ในปี 2568 บวกกับผลพวงของความเสี่ยงในเรื่องของสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยจากประเทศคู่ค่าที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว จึงคาดว่าการส่งออกของไทยปี 2567 ประเมินว่าจะอยู่ที่ 3.21%
ขณะที่ ปี 2568 หาก GDP โลกขยายตัว 2.7-3.2% ไทยจะส่งออกอยู่ที่ 2.8% มูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์ ตลาดสำคัญยังคงเป็น ยุโรป อินเดีย อเมริกา สินค้าเด่นคือเครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง ยางและผลิตภัณฑ์ ยาง แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษี 10% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือ 2.24% และหากขึ้นภาษีกับประเทศที่เกินดุล 15% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือเพียง 0.72%
ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งคือการอัดมาตรการด้านท่องเที่ยวและการบริโภค และต้องหาแต้มต่อของไทยจากการเป็นศูนย์ลางโลจิสติกส์ และไม่โดนกำแพงภาษีมากเกินไป เพื่อดึงการลงทุนเข้ามาแทนเวียดนาม ที่อาจถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 15-20% เพราะเกินดุลการค้ามากกว่าไทย