สศช. แนะรัฐบาลฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ พุ่งเป้า ลุ้นแจกเงิน10000 ปั๊มจีดีพี

18 พ.ย. 2567 | 14:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 14:31 น.

สศช.ประเมินนโยบายแจกเงิน 10000 บาท ไปยังกลุ่มเปราะบาง คาดมีผลต่อจีดีพี ไตรมาสสุดท้ายปี 2567 แต่ยังไม่แน่ใจกระตุ้นแค่ไหน หลังแจกเงินสดเช็คยาก ก่อนแนะช็อตต่อไปรัฐบาลต้องฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบพุ่งเป้า

วันนี้ (18 สิงหาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ผ่านนโยบายแจกเงิน 10000 บาท ไปยังกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยจะต้องประเมินเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจอีกครั้งว่าจะมีผลอย่างไร 

“ช่วงแรกที่จ่ายเงิน 10000 บาทลงไปกว่าเงินเข้าระบบต้องสำรวจและประเมินอีกครั้งว่า นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แค่ไหน เพราะต้องไปดูรูปแบบการใช้จ่ายก่อน เนื่องจากการจ่ายออกไปเป็นเงินสด จะประเมินผลต่อเศรษฐกิจได้ยากว่านำไปใช้จ่ายอะไร จึงต้องสำรวจ ซึ่งล่าสุด สศช. ร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ออกสำรวจกลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าเงินที่ได้ไปใช้จ่ายอะไร และส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ” นายดนุชา ระบุ

ทั้งนี้ในการประเมินเบื้องต้น การแจกเงินกลุ่มเปราะบาง 10000 บาทในช่วงที่ผ่านมา เงินส่วนนี้จะมีต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2567 ส่วนการดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องหรือไม่นั้น คงต้องรอข้อสรุปจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นี้ อีกครั้งว่าจะมีมติออกมาอย่างไร

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

อย่างไรก็ตามในแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ สศช. ตั้งไว้ 2.6% และในปี 2568 ขยายตัว 2.8% นั้น สศช. มองว่า สิ่งสำคัญคือการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้ามากขึ้น โดยต้องพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ให้รอบคอบ และต้องหารือถึงแนวทางการดำเนินมาตรการให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.ขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนี้

  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น
  • การติดตามและประเมินสถานการณ์การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด
  • การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ให้มากขึ้น
  • การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
  • การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้

  • การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น
  • การยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ
  • การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ 
  • การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย 

 

สศช. แนะรัฐบาลฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ พุ่งเป้า ลุ้นแจกเงิน10000 ปั๊มจีดีพี

 

3. การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ดังนี้

  • การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
  • การเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 – 2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว 
  • การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
  • การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
  • การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ดังนี้

  • การเร่งรัดติดตามสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรโดยเร็ว
  • การเตรียมการรองรับความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคเกษตร
  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปให้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2567
  • การสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 

5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันควรเร่งรัดดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง