จี้รัฐคลอดมาตรการกระตุ้น ‘ค้าปลีก-ท่องเที่ยว’ ดันเงินสะพัดโค้งท้าย

06 พ.ย. 2567 | 12:29 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 12:51 น.

หนุนรัฐอัดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อโค้งท้าย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชงฟื้นช้อปดีมีคืน ปลุกเม็ดเงินสะพัดแสนล้าน “รมว.สรวงศ์” ดันเพิ่มวงเงินแอ่วเหนือคนละครึ่ง ฟื้นเราเที่ยวด้วยกัน ปั๊มไทยเที่ยวไทย ททท. ปักธง 3 เดือนสุดท้ายดึงต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม 20%

หลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวน 14 ล้านคน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ภายใต้ “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ต่างเข้าร่วมกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค ด้วยการเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ

พร้อมร่วมจัดมหกรรมลดราคาสินค้าต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 67 - มกราคม 68 ซึ่งเป็นการต่อยอดมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และช่วยสร้างบรรยากาศจับจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 1.1 แสนล้านบาท

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชงฟื้นช้อปดีมีคืน

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสมาคมได้นำเสนอมาตรการช้อปดีมีคืน ให้ภาครัฐนำกลับมาใช้อีกในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นที่จะกระตุ้นมู้ดของการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างมาก

ณัฐ วงศ์พานิช

โดยขอเสนอให้มีการลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่นบาท สำหรับการนำมาซื้อสินค้า ช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ และ SME ที่จดทะเบียน VAT แต่ยังไม่เริ่มใช้หรืออยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่าแสนล้านบาท

“อยากเห็นมาตรการช้อปดีมีคืน ถูกนำกลับมาใช้ภายในปลายปีนี้เลย ไม่ต้องรอถึงปีหน้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายให้สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบน”

“รมว.สรวงศ์” ดันเพิ่มวงเงินแอ่วเหนือคนละครึ่ง

ขณะที่นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ มี 2 โครงการหลักที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ที่เบื้องต้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนงบ 400 บาท สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 1 หมื่นสิทธิ์ และกำลังอยู่ระหว่างหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาจัดสรรงบในการขยายวงเงินหรือสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มเติม

สรวงศ์ เทียนทอง

ฟื้นเราเที่ยวด้วยกัน

รวมไปถึงเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณางบประมาณใช้การดำเนินการโครงการที่คล้ายๆกับ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เนื่องจากทั้ง 5 เฟสของเราเที่ยวด้วยกันที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 58,621 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลอาจจะใช้ชื่อใหม่ และปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในเฟสเดิมทั้งหมด อาทิ การโกงการเข้าพักจริง จำนวนห้องพักที่ถูกใช้มากเกินกว่าจำนวนที่มีจริง

ทั้งนี้การฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เอกชนเสนอว่าควรจะหารือถึงการขยายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว จากประชนจ่าย 60 รัฐ 40 เป็นมา 50 : 50 ซึ่งประเมินว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะได้มากกว่าเฟสแรก 5-10% โดยจะสรุปให้แล้วเสร็จในต้นปีหน้า

ททท. ปักธง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ ดึงต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม 20%

ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาพรวมไตรมาส 4 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเติบโตต่อเนื่อง หากจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36.7 ล้านคน จะต้องดึงต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มอีก 20% ซึ่งมองว่าไม่ได้ยาก เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนเที่ยวบินที่ฟื้นตัวกลับคืนมามากขึ้น ทั้งการเปิดเส้นทางใหม่ และการกลับมาบินอีกครั้ง

อาทิ เยอรมนี เดิมบินเข้ามาแบบเช่าเหมาลำ ขณะนี้เริ่มบินแบบประจำมากขึ้น รวมถึงบางตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นแบบดีวันดีคืน อาทิ ออสเตรเลีย บินไปยังภูเก็ต-กระบี่-พังงา ถือว่าการท่องเที่ยวภาคใต้เติบโตได้ดีมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะภูเก็ต ที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาสูงมาก จนไม่มีช่วงตกท้องช้าง หรือช่วงของการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวเลย

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์

ส่วนราคาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นสูงเกินไป ด้านตลาดระยะใกล้ ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากหลายเมือง อาทิ โกลกาตา อาห์มาดาบัด

รวมถึงแคมเปญกระตุ้นตลาดต่างๆ อาทิ หนีห่าว มันธ์ มาตรการวีซ่าฟรี และมีการบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยลบต่างๆที่เข้ามาส่งผลกระทบ ทั้งวิกฤตธรรมชาติ ค่าเงินบาทแข็ง หรือค่าเงินเยนอ่อน หนุนให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นเติบโตมากขึ้น ซึ่ง ททท.เตรียมแผนรับมือไว้แล้วคือ การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลุ่มใหม่ กลุ่มแม่บ้านที่ทำงานด้วย กลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้ที่เพิ่งมีหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรก เพื่อดึงเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น

จุดพลุ Thailand Grand Tourism & Sport Year ดันต่างชาติ 40 ล้านคน

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซัน โดยในช่วงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย เพิ่มกลับขึ้นมาเฉลี่ยมากกว่า 1 แสนคนต่อวันแล้ว หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.3 ล้านคน

เช่นเดียวกับการขยายตัวของสายการบินต่างๆ ที่ล่าสุดในตารางบินฤดูหนาวนี้ (วันที่ 27 ตุลาคม 2567-29 มีนาคม 2568) มี 71 สายการบินทั่วโลก ได้เจรจากับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CATT เพื่อขอจัดสรรเวลาการบินเข้าไทย ทั้งเที่ยวบินรับขนผู้โดยสาร และเที่ยวบินขนส่งสินค้า ซึ่งมีทั้งขอรับการจัดสรรเที่ยวบินใหม่ และขอปรับเวลาการบิน โดยมีจุดหมายปลายทางหลัก คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2568 ททท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 40 ล้านคน เป็นตลาดระยะไกล 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27.5 % ส่วนที่เหลือเป็นตลาดระยะใกล้ สร้างรายได้รวม 2.106 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย จำนวน 203.80 ล้านคนครั้ง เพิ่มขึ้น 11% สร้างรายได้ 1.134 ล้านล้านบาท หรือสร้างรายได้รวม 3.240 ล้านล้านบาท

โดยปีหน้าททท.จะประกาศเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองท่องเที่ยว Amazing Thailand Grand Tourism & Sport Year  เพื่อเฉลิมฉลองการเดินทางมาเที่ยวไทย ภายใต้แนวคิด 5 Grand ได้แก่ 1.Grand festivity 2.grand privilege 3.grand celebration 4.grand moment และ 5.grand invitation โดยเน้น grand collaboration ความร่วมมือบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่

โรงแรมเฮลูกค้าพุ่ง

“โรงแรมมียอดการจองเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจองผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงในช่วงเดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป จะเห็นสายการบินกลับมาเปิดเที่ยวบินเข้าไทยมากขึ้น เพื่อรองรับไฮซีซันนี้ ทั้งเส้นทางบินจากยุโรปและเอเชีย เมื่อดูจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาช่วงก่อนหน้านี้ ก็มองว่าเป้าหมายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยในปีนี้ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 36 ล้านคนน่าจะเป็นไปตามเป้า

เพราะตั้งแต่ 1 ม.ค.-2 พ.ย.2567 ต่างชาติเที่ยวไทยแล้วกว่า 29 ล้านคนแล้ว แต่ในแง่ของรายได้ ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากมีหลายปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ที่อาจส่งผลต่อการใช้จ่าย” นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าว

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์

ทั้งนี้โรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค คาดว่าลูกค้าต่างชาติจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เกือบ 1 ใน 5 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ขณะที่แนวโน้มราคาห้องพักใน Q4/67 เทียบกับ Q4/66 ประเมินว่า ใน Q4/67 ทั้งโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปและโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวมีแนวโน้มปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันปีก่อน และส่วนใหญ่ปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%

ทั้งนี้มีโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้น ไปเกือบ 10% ที่อาจปรับขึ้นราคามากกว่า 20% หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่า โรงแรมในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีสัดส่วนโรงแรมที่คาดว่าจะปรับราคาห้องพักในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่อื่น