รายงาน Gold Demand Trends ของ สภาทองคำโลก (World Gold Council) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 เผยให้เห็นว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1,313 ตัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในไตรมาสที่ 3
นอกจากนี้ มูลค่าความต้องการทองคำรวมยังสูงเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนในทองคำที่สูงขึ้นในภาวะราคาที่ทำลายสถิติ
ความต้องการลงทุนในทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 364 ตัน สาเหตุหลักมาจากความต้องการทองคำ ETF ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนในฝั่งตะวันตก โดยทองคำ ETF ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 95 ตันในไตรมาสนี้
ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่มีการเติบโตเชิงบวกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022 แม้ว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญจะลดลง 9% แต่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 859 ตัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ 774 ตัน
การซื้อทองคำโดยธนาคารกลางชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 186 ตัน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำรวม 694 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปี 2022
ราคาทองคำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,474 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในไตรมาสนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการเครื่องประดับทองคำทั่วโลก โดยความต้องการในเชิงปริมาณลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นแม้จะซื้อทองคำน้อยลง
โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตในภาคอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งยังคงได้รับผลบวกจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ส่งผลให้ความต้องการทองคำเพิ่มสูงขึ้น
อุปทานทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการผลิตเหมืองเพิ่มขึ้น 6% และการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 11%
นักวิเคราะห์อาวุโสด้านตลาดจากสภาทองคำโลก กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 นี้ เห็นได้ว่ากิจกรรมการลงทุนและการซื้อขายแบบ Over-the-counter เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำทั่วโลกและดันราคาทองคำสูงขึ้น แม้ว่าราคาทองคำที่สูงขึ้นจะทำให้ความต้องการในตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดลง แต่การลดภาษีนำเข้าทองคำในอินเดียช่วยให้ความต้องการเครื่องประดับและทองคำแท่งในประเทศยังคงสูงอยู่ในสภาวะราคาที่เป็นสถิติ
ปรากฏการณ์ FOMO ในกลุ่มนักลงทุน
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ โดยนักลงทุนแสดงความสนใจในการซื้อทองคำตามแนวโน้มราคาที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต และบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ และความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น
อนาคตกระแสการลงทุนในทองคำที่เพิ่มขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะคงอยู่
ซึ่งอาจทำให้ทั้งความต้องการและระดับราคาทองคำยังคงสูงต่อไป ในขณะเดียวกัน ราคาที่ทำลายสถิติกว่า 30 ครั้งในปี 2024 ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจยังเป็นอีกปัจจัยที่กำลังจับตามอง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางของตลาดทองคำ