อัปเดตล่าสุด สร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้าน ถึงไหนแล้ว

30 ต.ค. 2567 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 15:15 น.
4.1 k

“รฟม.” กางแผนคืบหน้า สร้าง“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท เผยไทม์ไลน์เอกชนตอกเสาเข็ม-เข้าพื้นที่แรก ย่านประตูน้ำ มั่นใจเปิดให้บริการได้ตามเป้า

หลังจาก “รฟม.” และ BEM หรือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มได้มีการลงนามสัญญาร่วมกันเมื่อช่วงกลางปี 67 ที่ผ่านมา

ล่าสุดนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาเอกชนผู้รับสัมปทานได้เข้าพื้นที่เพื่อเริ่มงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567
 

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก
ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 6 ปี และเปิดให้บริการปลายปี 2573

ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่า BEM สามารถเข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสำรวจแนวทางการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสาร ท่อประปาแล้ว ซึ่งเร็วกว่าแผน 1 เดือน เนื่องจากได้รับการอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

ส่วนพื้นที่แรกที่จะเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกได้ คือ ประตูน้ำ คาดว่าจะลงพื้นที่ได้ภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568

นอกจากนี้พบว่ามีพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายสะพานในกรุงเทพฯบางแห่ง โดยเฉพาะสะพานข้ามแยกประตูน้ำ แยกราชเทวี
 

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก 

ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ตามแผนจะเปิดเดินรถได้ภายในปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571ปัจจุบันผู้รับสัมปทานได้เตรียมนำระบบรถไฟฟ้า (M&E) เข้าไปดำเนินการ โดยในระหว่างนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย

อย่างไรก็ดีหากกระบวนการแล้วเสร็จจะสามารถเดินหน้าได้ทันที นอกจากนี้การจัดหารถสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี

ขณะเดียวกันในปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ BEM พิจารณารูปแบบของขบวนรถไฟฟ้า ที่ต้องหารือร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบขบวนรถไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างกัน 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี