เปิดใจผู้นำหญิงอาณาจักร Sea Thailand จากวิศวกรโรงงานสู่“CEO”บิ๊กเทค

17 ต.ค. 2567 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 12:36 น.

เปิดเส้นทางความสำเร็จ “มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ" ผู้นำหญิงแห่งอาณาจักร Sea (ประเทศไทย) จากวิศวกรสาวโรงงาน สู่ผู้นำองค์กรเทคโนโลยีระดับโลก

ในโลกธุรกิจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผู้นำหญิงที่โดดเด่นด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความสามารถในการบริหารองค์กรสู่ความประสบความสำเร็จ  หนึ่งในนั้น มีชื่อของ "มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ทั้งการีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ร่วมอยู่ด้วย  

เปิดใจผู้นำหญิงอาณาจักร Sea Thailand จากวิศวกรโรงงานสู่“CEO”บิ๊กเทค

 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “มณีรัตน์”  ซีอีโอหญิงคนเก่ง ผู้เป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่ม Sea ประเทศไทย จนประสบความสำเร็จ  โดย  2 ใน 3 ของธุรกิจของกลุ่ม Sea ประเทศไทย  ภายใต้การบริหารของเธอครองความเป็นผู้นำธุรกิจ ทั้ง การีนา (Garena)   ที่ครองอันดับหนึ่งธุรกิจเกมเมืองไทยมากเกือบ 10 ปี และ ช้อปปี้ (Shopee) ที่ก้าวขึ้นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของเมืองไทย    กลุ่ม Sea กำลังก้าวสู่ธุรกิจใหม่ คือ ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)  

ย้อนเส้นทางสู่จุดสูงสุดองค์กร

“มณีรัตน์” ย้อนเส้นทางอาชีพของเธอก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร   โดยเธอมีพื้นฐานมาจากวิศวะ  โดยจบวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนจบมา มีความเป็นเลือดวิศวะสูงมาก จึงไปทำงานสายโรงงาน แต่พอทำไปได้สักพัก  ก็ย้ายมาทําทางการตลาดแล้วก็ ทําบริหาร  เริ่มรู้สึกว่าโลกมีหลายแบบ ไม่ใช่มีแค่วิศวะแล้วก็มีการตลาด  มีทางด้านซอฟต์ไซส์ด้วย  ความสนใจนี้นำพาเธอไปศึกษาต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

เปิดใจผู้นำหญิงอาณาจักร Sea Thailand จากวิศวกรโรงงานสู่“CEO”บิ๊กเทค

"การศึกษาที่สแตนฟอร์ดในปี 2000 ต้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ  โดยที่นั่นอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ได้มีโอกาสอยู่ใกล้วงการเทคโนโลยี วงการสตาร์ทอัพ    ซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีเริ่มบูม และเห็นว่าเทคโนโลยีทำให้เกิดประโยชน์ยังไง"

ขณะที่ในตอนนั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังไม่บูมเท่าไร   แต่มีความรู้สึกสนใจเรื่องการบริหารมากขึ้น   โดยมองว่าการบริหารทำให้เกิดประโยชน์มากมาย  แต่ด้วยความเป็นวิศวะ ยังอยากลงมือทำด้วย  ซึ่งประสบการณ์ของตัวเองตอนนั้นยังมีไม่มาก เลยไปทำงานคอนซัลติ้ง  จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้บริหารระดับ C-Level   ได้เจอคนที่ดูแนวคิดของการรันองค์กร   การวางกลยุทธ์ การบริหารงานบุคคล  

จากการที่เธอ ทำงานมีบอสตัน คอนซัลแตนส์ กรุ๊ป  เธอมีโอกาสเดินทางไปสิงคโปร์   และบังเอิญไปเจอกับ Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Sea Group  ซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนที่สแตนฟอร์ด  ซึ่งตอนนั้นเขากำลังขยายตลาดการีนา  ที่ตอนนั้นทำธุรกิจเกมอย่างเดียวไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยตอนนั้นมีธุรกิจของการีนามีแค่ในสิงคโปร์  และเวียดนาม  เขาต้องการขยายธุรกิจมาในไทย  ซึ่งเธอเอง ก็สนใจอยากช่วย  เพราะตอบโจทย์กับสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว  คือ อยากทำเกี่ยวกับด้านการบริหาร  การวางกลยุทธ์   ซึ่งเมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ   เป็นกึ่งๆ สตาร์ทอัพ  จึงตัดสินใจร่วมงานกับการีนา ประเทศไทย  เมื่อปี 2557  ในตำแหน่ง COO (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ)  เข้ามาช่วยขยายตลาดเกม หลังจากนั้นก็ช่วยกันวางกลยุทธ์การขยายไปทําธุรกิจบริการการเงินดิจิทัลแล้วก็ไปทําเรื่องของอีคอมเมิร์ซ คือ ช้อปปี้ จนประมาณ ปี 2559  ก็ได้โปรโมต ให้เป็น CEO  ของกลุ่ม Sea  ประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ

มณีรัตน์  เน้นย้ำถึงหลักการสำคัญในการทำธุรกิจของกลุ่ม Sea Thailand  มาตลอดคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น   ซึ่งเป็นเหมือนกับวิสัยทัศน์ของเรา   จะเห็นได้ว่าธุรกิจหลักของกลุ่ม Sea   ไม่ว่าจะเป็นการีนา  ที่เป็นธุรกิจเกมออนไลน์  หรือ ซีมันนี่ บริการทางการเงินดิจิทัล  หรือ ช้อปปี้  ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ  มันคือเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาทำให้คนสะดวกสบายขึ้น   ขณะที่เอสเอ็มอี ก็ได้รับประโยชน์มากขึ้น  

แต่จะพูดว่านำเทคโนโลยีมาทําให้มันเกิดประโยชน์ยังต้องคุยกันอีกว่าแล้วกลยุทธ์ คือเอาแค่เทคโนโลยีมาแล้วมันก็ไม่ใช่ว่าเอามาปุ๊บแล้วมันจะเกิดปั๊บใช่หรือไม่ 

สิ่งที่เราคิดเสนอ อย่างแรกคือ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ถ้ามีบริการในตลาดอยู่แล้วก็ต้องทำให้ดีกว่าบริการที่มีอยู่  หรืออาจเป็นเทคโนโลยีที่ยังมีการให้บริการมาก่อน  

เปิดใจผู้นำหญิงอาณาจักร Sea Thailand จากวิศวกรโรงงานสู่“CEO”บิ๊กเทค

อย่างที่ 2 ที่เราคิด คือเรื่อง การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง   โดยลูกค้าต้องมาก่อน ทำอย่างไรให้สะดวกสบายมากที่สุดบนแพลตฟอร์มของเรา  สุดท้ายที่เราเชื่อคือเรื่องการ พัฒนาบริการให้เข้ากับท้องถิ่น (Localization)   ซึ่งเราไม่เชื่อในเรื่อง หนึ่งโซลูชัน ตอบโจทย์ทุกตลาด   อย่างช้อปปี้  วันแรกที่เปิดตัวใน 7 ตลาดมีแอปทั้งหมด 7 แอป  

ซึ่งการดำเนินธุรกิจของเราในอนาคตนั้นยังยึด 3 แนวทางนี้เป็นหลัก โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากที่สุด  ทำอย่างไรให้ลูกค้าสะดวกสบาบมากสุด   และตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละตลาด

ปรัชญาทำธุรกิจ

หลักการสำคัญที่สุดของเราคือการให้ความสำคัญกับ Customer Centric ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือแม้แต่การคิดฟีเจอร์ใหม่ๆ เราจะมองก่อนเลยว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์อะไร สะดวกจริงหรือไม่ และได้รับประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง

นอกจากนี้ เรายังนำหลักการนี้มาใช้กับการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้วย อย่างเช่นผู้ขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นแค่ผู้ขาย แต่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน เพราะถ้าเขาไม่สามารถเติบโตกับเราได้ เขาก็จะไปอยู่กับแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งก็จะส่งผลต่อการเติบโตของเราด้วย

เรายังใช้หลักการเดียวกันนี้กับพนักงานในองค์กรด้วย โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ได้รับความท้าทาย และเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้องค์กรของเราเติบโตไปได้ด้วยเช่นกัน

เปิดใจผู้นำหญิงอาณาจักร Sea Thailand จากวิศวกรโรงงานสู่“CEO”บิ๊กเทค

มุมมองการเป็นผู้นำหญิง

เมื่อถามถึงข้อดีและข้อจำกัดของการเป็นผู้หญิงในการบริหารองค์กร   มณีรัตน์   มองว่า "ผู้หญิงอาจจะมีความใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า ทำให้เวลาสื่อสารหรือทำงานกับคู่ค้า ผลิตสินค้าบริการ หรือทำงานในองค์กร เราอาจจะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ามีความท้าทายเช่นกัน   ความเป็นผู้หญิงมันก็มีความคาดหวังจากสังคมรอบข้างอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการบาลานซ์ระหว่างงานกับครอบครัว  อย่างตัวเธอเองแต่งงานแล้วมีลูก 2 คนอาจมีความคาดหวังว่าจะทํางานในองค์กรแบบนี้แล้วที่บ้านจะดูแลอย่างไร   ซึ่งเป็นเรื่องข้อจํากัดที่เราต้องบาลานซ์ เราอาจมีความพยายามในการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว Work-life Balance  ขณะที่ผู้ชาย มีครอบครัวแล้ว อาจยังสามารถผลักดันงานได้เต็มที่

นิยามตัวตน'ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน”

มณีรัตน์  ยังได้นิยามตัวเองว่าเป็นคน 'ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน' (Kind but firm)  หลายคนอาจจะมองว่าเป็นคนใจดี คุยง่าย เป็นกันเอง แต่จริงๆ แล้วการพูดคุยในเชิงธุรกิจจะพูดอย่างตรงไปตรงมา  แต่ไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์หรือพูดจารุนแรง เราสามารถคุยกันให้ลงตัวได้โดยไม่ต้องก้าวร้าว  

“เวลาที่เรา Firm อาจจะออกแนวที่ว่ามันต้องเป็นแบบนี้   แต่ก็จะอธิบายกับลูกค้าน้องว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้”

นอกจากนี้ยังเป็นคนชอบคิดชอบทำด้วย ด้วยพื้นฐานการศึกษาทั้งด้านบริหารและวิศวกรรม ทำให้ชอบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตคนสะดวกสบายขึ้นด้วยเทคโนโลยี และลงมือทำจริงๆ ด้วย การได้เห็นสิ่งที่คิดกลายเป็นความจริง แม้อาจจะต้องลองผิดลองถูกบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุขมาก

อยากเห็นไทยโกทูดิจิทัลเนชัน

มณีรัตน์ ยังได้สะท้อนมุมมอง อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปทางไหน   โดยเธอมองว่าประเทศไทยควรก้าวไปสู่การเป็น "ดิจิทัลเนชั่น" อย่างแท้จริง

"เรามีความรู้สึกว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัลเนชั่นจริงๆ ตอนนี้มันก็เข้าใกล้แล้ว มีความดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในแง่ของดิจิทัลแก็ปที่ค่อนข้างกว้าง"

เธอและทีมงานพยายามผลักดันวิสัยทัศน์นี้ผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและสถาบันการศึกษา "เราทำงานกับภาครัฐ ดูว่าในฐานะที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เราสามารถใช้แพลตฟอร์มของเราก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับภาครัฐ เพื่อขยายไปสู่กลุ่มคนที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงเรื่องของดิจิทัลมากขึ้นได้"