จีนเองยังไม่ยอมรับ “สินค้าด้อยคุณภาพ” หนุนไทยคุมเข้มนำเข้า

09 ต.ค. 2567 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 13:44 น.

โรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิตของไทย ทยอยปิดตัวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด

อีกด้านหนึ่งผลพวงจากหลายอุตสาหกรรมของไทยเริ่มมีความล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ สถิติในปี 2566 มีโรงงานไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปิดตัวไป 2,125 แห่ง และช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 ปิดตัวอีก 667 แห่ง

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่ออัปเดตสถานการณ์ รวมถึงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก และไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด หลังกระทรวงพาณิชย์รับเป็นเจ้าภาพประสานกับ 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ณ เวลานี้ภาพรวมสถานการณ์สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาทุ่มตลาดในไทยยังไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะมาตรการในการกำกับดูแลและติดตามแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เวลานี้การนำเข้าสินค้าก็ยังมีอยู่มาก และยังเข้ามาต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่ถือเป็นโรงงานของโลก และมีต้นทุนที่ถูก
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“สินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกจำนวนมหาศาล แต่เดิมจะส่งไปอเมริกาและยุโรป แต่ตอนนี้เขาย้อนเข้ามาทางอาเซียน เพราะมีสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้สินค้าเขาไปทางตลาดเดิมยากขึ้น จากถูกเก็บภาษีสูงขึ้นมาก ขณะที่อาเซียนเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพราะฉะนั้นก็มาเบียดตลาดสินค้าไทยทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น”

มาตรการต้องไม่ขัด WTO

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวของของไทยต้องเร่งหามาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกับไทย แต่รับมือได้ดีกว่า ทำให้สินค้าราคาถูกนำเข้าจากต่างประเทศแม้จะยังเข้าไปได้บ้าง แต่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่พอรับมือได้ แต่ของไทยหากเปรียบเทียบเปรียบเสมือน “นํ้าท่วมมิดหัว ไม่มีอากาศจะหายใจแล้ว” เพราะยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง หากยังปล่อยไปเช่นนี้ อีกไม่นานคงล้มหายตายจากกันไปหมด

“ผมได้คุยกับหน่วยงานของจีน เขาบอกเลยว่า เขาเห็นด้วยกับการเข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน เพราะประเทศเขาเองก็ไม่เอาสินค้าด้อยคุณภาพ เขาเองยังไม่ใช้เลย แต่เป็นเรื่องของผู้ผลิตเอกชน เขาไม่เกี่ยว ในหลายประเทศที่เข้มงวดเขาไม่ให้เข้า แต่สำหรับไทยเขาก็แปลกใจว่า ทำไมเข้ามาเยอะสุด ซึ่งเขาฝากผมให้ช่วยบอกกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ขอให้เอาจริงเอาจังไม่ต้องเกรงใจ เพราะทางปักกิ่งเขาก็เห็นด้วยกับมาตรการของไทย จะต้องไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเข้าประเทศ”

กดการใช้กำลังผลิตต่ำ 60%

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาดัมพ์ตลาดภายในของไทยในเวลานี้ ยังส่งผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ของไทย ล่าสุดอัตราการใช้กำลังผลิตหรือการใช้เครื่องจักรในภาพรวมยังอยู่ที่ระดับ 58-59% ยังไม่พ้นระดับ 60% มาเป็นเวลานนาน ซึ่งในความเป็นจริงการที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนใหม่ การใช้กำลังการผลิตจะต้องอยู่ที่ระดับ 75-80%

ขณะเดียวกันเพื่อลดผลกระทบของปัญหา และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย จะต้องมีการเร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ การผลักดันการส่งออกในตลาดใหม่ ๆ และที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน เพราะเวลานี้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) และสินค้าที่ผลิตเริ่มเป็นสินค้าที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ลดโลกร้อน

ลุยอุตฯยุคใหม่ใช้พลังงานสะอาด

ดังนั้นไทยต้องรีบเร่งในการผลักดันการปรับโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยที่ ส.อ.ท.ได้วางนโยบายและโรดแมปไว้อย่างชัดเจนคือการก้าวสู่ Next Gen-Industry หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มยอดการส่งออกของไทยในอนาคต

“การจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวโดยเร็ว ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีเอกชนเป็นคนเดินหน้า โดยภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ช่วยลดต้นทุน เฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนด้านพลังงานที่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.พลังงาน เพื่อร่วมกันวางแผนงานให้ชัดเจนและเดินหน้าไปด้วยกัน เช่น ด้านอุปทาน (Supply Side) ที่ภาครัฐต้องจัดหาพลังงาน จะได้รู้ว่า จะต้องการพลังงานระบบเดิมที่ใช้ฟอสซิสกี่เปอร์เซ็นต์ จะต้องลดเท่าไร จะไปเพิ่มในพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสีเขียวอีกเท่าไหร่ ซึ่งเอกชนจะได้เป็นคนสะท้อนตัวเลขเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่มีต้นทุนแฝงมากเกินไป”

ขณะเดียวกันพลังงานสีเขียวจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้าประเทศ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สินค้าที่เป็นไฮเทคโนโลยี และอื่น ๆ ที่ต้องการพลังงานสะอาดและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างจุดขายที่แตกต่างจากประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ ในภูมิภาค