นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 นี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมหารือในเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือร่วมกัน เพื่อรับฟังปัญหาการคมนาคมในทุกรูปแบบของประเทศ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึงแนวทางแก้ไขป้องกันทั้งระบบ โดยเฉพาะการเดินทางทางถนนให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานการ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การเรียกประชุมเรื่องความปลอดภัยทางถนน ของนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือร่วมกันครั้งนี้ คาดว่า รัฐบาลจะจัดทำแผนเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยทางถนนออกมาให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเหตุเพลิงไหม้
ทั้งนี้จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ของกระทรวงคมนาคม ล่าสุดเมื่อปี 2565 สรุปภาพรวมสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกจากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561 (Global Status Report on Road Safety 2018) โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) พบข้อมูลดังนี้
ปัจจุบันอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นเป็น 1.35 ล้านคนต่อปี โดยประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลกโดยมีประมาณการผู้เสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22,491 คน (เฉลี่ย 60 คนต่อวัน)
ส่วนสถานการณ์การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภำพรวม โดยมีข้อมูลผู้เสียชีวิตลดลงจากเดิมจากประมาณการครั้งที่ผ่านมาขององค์การอนามัยโลก 2,000 คน แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่งในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากรถยนต์มากที่สุด 29% รองลงมาคือ รถจักรยานยนต์ 28% ที่เหลือเป็นผู้ขี่จักรยานและผู้เดินเท้า 26% และผู้ใช้ถนนอื่น ๆ 17% โดยสัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด 74.4% รองลงมาคือ รถยนต์ 12.3% ผู้เดินเท้า 7.6% ผู้ขี่จักรยาน 3.5% และผู้ใช้ถนนอื่น ๆ 2.3%
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนนของประเทศไทยจำนวนมากถึงสามในสี่ มีสาเหตุจากการขับขี่หรือซ้อนโดยสารรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ (รวมถึงรถ 3 ล้อ) ซึ่งหากคิดสัดส่วนต่อจำนวนประชากรของประเทศแล้ว ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ ในประเทศไทยจะสูงเป็นลำดับ 1 ของโลก
ประกอบกับจากสถิติการจดทะเบียนยานพาหนะของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 มีรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจำนวน 22.14 ล้านคัน จึงทำให้รถจักรยานยนต์มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 52.66% เมื่อเทียบกับรถจดทะเบียนสะสมประเภทอื่นตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2565 ตามช่วงอายุและเพศ พบว่า กลุ่มเยาวชน ช่วงอายุระหว่าง 15 - 19 ปี เป็นช่วงอายุที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสะสมมากที่สุด เป็นเพศชาย 19,257 ราย และเพศหญิง 4,053 ราย
ทั้งนี้หากพิจารณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในทุกช่วงอายุ พบว่า เพศชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าเพศหญิง และส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15 - 59 ปี) ประกอบด้วย เพศชายรวม 124,241 ราย (77.53% ของผู้เสียชีวิต เพศชายรวม) และเพศหญิงรวม 30,208 ราย (60.47% ของผู้เสียชีวิตเพศหญิงรวม)