กังขา ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หักธงการเมือง ไตรภาคีเล่นเกมล่มสามรอบ

25 ก.ย. 2567 | 14:19 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 15:56 น.

นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เอกชนกังขาบอร์ดไตรภาคี เล่นเกมล่มสามรอบ ผิดปกติ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หักธงการเมืองหลังประกาศปรับขึ้น 1 ตุลาคม 2567

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึงนโยบายการปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ว่า ภาคการเมืองยังคงเดินหน้าปรับค่าจ้างครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567 เพื่อให้ได้ค่าจ้าง 400 บาทตามธงที่กำหนดไว้ โดยปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างมีการเรียกประชุม คณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีถึง 3 ครั้งแต่ก็ล่มไม่สามารถดำเนินการพิจารณาได้ 

นั่นคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน กรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คนพร้อมใจกันลากิจ ต่อมาการประชุมวันที่ 20 กันยายน องค์ประชุมไม่ครบเนื่องจากตัวแทนลูกจ้าง 2 คนลากิจและตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 4 คนซึ่งเป็นผู้แทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงพาณิชย์ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน พร้อมกันลากิจเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างอย่างเป็นนัย

ต่อมามีการเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างเป็นครั้งที่ 3 กำหนด วันที่ 24 กันยายน แต่ก่อนหน้าหนึ่งวันมีการแจ้งเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากตัวแทนของ ธปท.ขาดคุณสมบัติ เพราะเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2566 และหน่วยงานต้นสังกัดไม่รับรองสถานะ อย่างไรก็ดีมีการระบุว่า ทาง ธปท.ไม่เคยทำหนังสือไม่รับรองสถานะผู้แทน เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งชื่อบุคคลไม่ได้แต่งตั้งตามตำแหน่ง

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

“การเล่นเกมจนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต้องล่มถึง 3 ครั้งในเวลาใกล้ ๆ กันเป็นเรื่องที่ผิดปกติและไม่เคยมีปรากฏการณ์มาก่อน ผลคือทำให้การปรับค่าจ้างตามธงของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่งกำกับกระทรวงแรงงาน ได้ให้สัญญาไว้เมื่อวันแรงงานแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามธงที่กำหนดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ภาคการเมืองยังคงมุ่งมั่นปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามเป้า 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด” ดร.ธนิต ระบุ

ดร.ธนิต กล่าวว่า การปรับค่าจ้างโดยมีนโยบายและการผลักดัน เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างล่วงหน้า ทั้งตัวเงินและวันที่ แสดงชัดเจนถึงการแทรกแซงของนักการเมืองอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี จะปฏิเสธอย่างไรก็แล้วแต่ บริบทที่เห็นเชิงประจักษ์เป็นการแสดงชัดเจนถึงภาคการเมืองเข้ามามีบทบาทด้วยการครอบงำกลไกการปรับค่าจ้าง ซึ่งต้องเป็นไปตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 

โดยเฉพาะมาตรา 87 การปรับค่าจ้างจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง เช่น ผลิต ภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ความสามารถของธุรกิจ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็น องค์ประกอบ ขณะที่มาตรา 88 ระบุว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำให้นำเสนอต่อรมว.แรงงาน เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นการเสนอเพื่อทราบไม่ได้พิจารณา

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าเข้ามาแทรกแซงกลไกปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด รวมถึงการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างที่มาจากนายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนจากภาครัฐ โดยก่อนหน้านี้หอการค้าทั่วประเทศ และ 95 สมาคมการค้า ได้ออกมาคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สภาองค์กรที่เกี่ยวกับ นายจ้าง 17 องค์กร ออกมาคัดค้านการปรับค่าแรงและขอให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พร้อมทั้งชี้แจงว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริงจะ ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการลงทุนและการส่งออก