“นฤมล” สั่งลุยทำทันที แก้ที่ทำกิน-บริหารน้ำ ดันรายได้สูง พ้นยากจน

21 ก.ย. 2567 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 13:50 น.

“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งลุยทำทันที แก้ที่ทำกิน-บริหารน้ำ เร่งเยียวยาน้ำท่วมเกษตร ดันรายได้สูง พ้นยากจน

วันที่ 12 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศจะดำเนินการทันที มีนโยบายด้านภาคการเกษตรรวมอยู่ด้วย “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่ ถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” จะมีแผนปฏิบัติการที่สำคัญอย่างไรบ้าง ในช่วงนับจากนี้

 

“นฤมล” สั่งลุยทำทันที แก้ที่ทำกิน-บริหารน้ำ ดันรายได้สูง พ้นยากจน

ทำงานร่วมเหมือนครอบครัว

นางนฤมล กล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่งฝ่ายบริหารร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีก 2 คน ได้แก่ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และนายอัครา พรหมเผ่า จะร่วมกันทำงานเป็นทีมเดียวกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ โดยมีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อทำให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้สูงขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง นับจากวันนี้เป็นต้นไป ถือว่าทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน

 

“ในยุคนี้จะเห็นว่าในที่ประชุม ครม.มีผู้หญิงเยอะมาก และยิ่งมาทำงานกับผู้บริหารกระทรวง ต่างก็ให้เกียรติกัน เป็นความรู้สึกครอบครัวเดียวกัน มาช่วยกันทำงาน ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาแข่งขันกัน ปัจจุบันครอบครัวเกษตรกรมีประมาณ 29 ล้านคน และต่อไปจะขยายครอบครัวเกษตรกรไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการทำการตลาดให้กับภาคการเกษตร”

 

 

 นอกจากนี้ยังมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน จากเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องเกษตรอัจฉริยะก็จำเป็นที่จะต้องไปประสานความร่วมมือ รวมถึงภาคเอกชนที่ทำในเรื่องการแปรรูปสินค้าส่งออก ก็ถือเป็นครอบครัวเกษตร ที่จะต้องมาร่วมงานเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นลดความเสี่ยงในอาชีพเกษตร มีรายได้สูงขึ้น และลดรายจ่าย

 

เร่งแก้ที่ทำกินบริหารจัดการนํ้า

สำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่จะต้องรับนโยบายมาดำเนินงานต่อให้สัมฤทธิผล ได้แก่ การจัดการที่ทำกิน และแก้ปัญหาเรื่องที่ดินในทุกมิติ โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก. (ส.ป.ก. 4-01) ซึ่งในอนาคตจะมีการแก้กฎหมาย ในระดับ พ.ร.บ. หรือในระดับประกาศกระทรวงเพื่อที่จะให้ที่ทำกินของเกษตรกรมีสิทธิในการทำกินที่มั่นคงมากขึ้น และถ้าเป็นไปได้จะยกระดับให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้แปลงเป็นทุนในการทำมาหากินด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ใดจะมาเป็นเลขาธิการ ส.ป.ก.คนใหม่ ก็หวังว่าจะได้ทำงานสานนโยบายต่อให้สัมฤทธิผล

เปิด จีดีพีเกษตรไทย ย้อนหลัง 5 ปี

 

ต่อมาเรื่อง “การบริหารจัดการนํ้า” ที่ขณะนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน จากสภาวการณ์นํ้าท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านการชดเชยเยียวยาแล้ว จะต้องไปเชื่อมโยงในการป้องกันและแก้ไขปัญหากับหน่วย    งานอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วม ภัยแล้ง ให้เป็นรูปธรรม

 

ล่าสุด (17 ก.ย. 67) ได้ประชุมผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เตรียมการในเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกร โดยประสานกับหน่วยงานอื่นให้ทำงานเร็วขึ้นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องฟื้นฟูฯ โดยให้ทุกกรมที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแผนฟื้นฟูเพื่อเตรียมการไว้ อาทิ กรมประมง เตรียมพันธุ์ปลา,กรมการข้าว เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น โดยการวางแผนจะต้องให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่

“การเข้ามารับตำแหน่งในช่วงสถานการณ์ที่มีปัญหานํ้าท่วม ถือเป็นโอกาสที่ดี จะได้มาสนธิกำลังกันในกระทรวง และระหว่างกระทรวง ก็จะเห็นว่าทุกคนตื่นตัวในการทำงาน โดยที่ผ่านมาในช่วงที่รัฐมนตรียังไม่มีอำนาจสั่งการ อธิบดีและผู้บริหารได้ลงไปลุยงานกันตามความรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง พอสั่งการได้ ก็มีการทำงานแบบทันที”

 

ลดความเสี่ยง-ลดเยียวยา

นางนฤมล กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเกษตรกรไทยถึงมีฐานะยากจน ขณะที่ประเทศอื่นเกษตรกรค่อนข้างมีฐานะ ทั้งนี้ตนเคยทำงานวิจัย โดยตั้งหัวข้อว่า “ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน ทำไมติดกับดักความยากจน” ก็ได้คำตอบว่า ไม่มีใครมาช่วยรับความเสี่ยงเลย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หว่านพืชผลไปแล้วฝนไม่มา ไม่มีนํ้า พอมีนํ้าก็นํ้าท่วม หรือไม่ก็เผชิญภัยพิบัติอื่นๆ เช่น โรคระบาด เป็นต้น

ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาทำให้เกษตรกรเป็นหนี้ ต่อให้ทำสินค้าเกษตรมีราคาสูง หรือช่วยลดต้นทุน ก็ยังต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่เพียงกลุ่มเดียว จึงทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักความยากจนได้ ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นได้จะต้องมาร่วมกันกระจายความเสี่ยงตรงนี้ด้วย เช่น โรงงานที่รับซื้อสินค้าเกษตรไปแปรรูปอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประกันความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกร ดีกว่าไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) อย่างอื่น เพราะเมื่อเกิดปัญหาภาครัฐก็เข้าไปเยียวยา โดยในแต่ละปีใช้งบประมาณในการเยียวยาสูงมากเป็นแสนล้านบาท

 

“นฤมล” สั่งลุยทำทันที แก้ที่ทำกิน-บริหารน้ำ ดันรายได้สูง พ้นยากจน

“ตรงนี้ต้องมาทบทวนแล้ววางแผนกันใหม่ว่าจะใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงเข้ามาช่วยภาคการเกษตร อย่างไร เช่นการประกันภัยให้กับภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยพืชผล และประกันภัยทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีโครงสร้างในเรื่องการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรในเรื่องเบี้ยประกันภัยอย่างไร ก็ต้องฝากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในการทำโครงการออกมาให้เป็นรูปธรรมจะช่วยลดการจ่ายเยียวยาได้มาก ไม่ว่าจะเป็นรูปกองทุนหรือบริษัทประกันภัยในรูปบริษัทเอกชน ก็อยากจะให้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการศึกษาร่วมกัน น่าจะมีข้อเสนอแนะที่ดี ก็หวังว่าจะเกิดในรัฐบาลชุดนี้” นางนฤมล กล่าวยํ้า

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567