ภาวะการเมืองบงการปรับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” 400 บาท ชี้ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

20 ก.ย. 2567 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 18:19 น.

“ธนิต โสรัตน์” ผ่ามุมมอง ประชุมบอร์ดค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ล่มองค์ประชุมไม่ครบ และภาวะการเมืองบงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต

วันนี้ (20 กันยายน 2567) ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความประชุมค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ล่มองค์ประชุมไม่ครบ และภาวะการเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ดร.ธนิต ระบุว่า บริบทภาคการเมืองเข้ามาครอบงำการปรับค่าจ้างไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวซึ่งจะ ส่งผลกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านการลงทุนรวมถึงการส่งออกของไทยซึ่ง ขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของไทยมีความอ่อนแอและติดหล่มแม้แต่หลังโควิด-19 ก็ยังไม่ฟื้นเห็นได้จากการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ในระดับที่ต่ำค่อนข้างมาก

โดยในปี 2565 ขยายตัวได้ 2.5% ปี 2566 ขยายตัว 1.9% และปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.65 - 2.7% (รวมงบ กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.45 แสนล้านบาท) 

“กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ โดยเฉพาะจากกับดักหนี้ระดับครัวเรือน และธุรกิจรวมถึงปัจจัยจากภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายมากกว่า 46,500 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของ GDP ซึ่งจะซ้ำเติมต่อกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจ จากสภาวะดังกล่าวการปรับค่าจ้างแบบก้าว กระโดดโดยไม่ได้นำปัจจัยทางเศรษฐกิจและความสามารถของนายจ้างมาเป็นตัวตั้งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย” ดร.ธนิต ระบุ

ปรับค่าจ้างกระทบตลาดแรงงาน

ทั้งนี้เห็นว่า การปรับค่าจ้างเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานของไทยประกอบด้วยสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคล (ณ 30 เมษายน 67) จำนวนประมาณ 917,916 กิจการ โดย 77.85% เป็นบริษัท จำกัด โรงงานอุตสาหกรรมจดทะเบียนตามกฎหมายมีประมาณ 72,699 โรงงาน 

ขณะที่สถานประกอบการ ขนาดย่อมไปจนถึงขนาดกลาง (MSMEs) มีจำนวนประมาณ 3.225 ล้านกิจการ สถานประกอบการเหล่านี้มีการจ้างงานแรงงานในภาคเอกชนและแรงงานอิสระประมาณ 22.73 ล้านคน (ไม่รวมภาคเกษตรกรรม-ภาค วิชาการและบุคลากรทางการแพทย์) ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ประมาณ 12.043 ล้านคน 

สร้างบรรทัดฐานใหม่ตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ตลาดแรงงานของไทยยังมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายประมาณ 3.342 ล้านคน โดย 70.1% เป็นแรงงานประเทศเมียนมา (จำนวน 2.306 ล้านคน) ประชากรเหล่านี้จะได้รับอานิสงค์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน ในระยะสั้นมีผลต่อรายได้ที่สูง 

แต่จะตามมาด้วยเงินเฟ้อและการจ้างงานในตลาดแรงงานที่ในอนาคตจะหดตัว การปรับค่าจ้างครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งคงเป็นไปตามที่ภาคการเมืองตั้งธงไว้ที่วันละ 400 บาท และปีต่อไปจะเพิ่มจนถึงเพดาน 600 บาท ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ กล่าวคือ

ประการแรก ภาคการเมืองสามารถหาเสียงโดยใช้กำหนดค่าจ้างเท่าใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้อง ใช้สูตรค่าจ้างหรือสภาวะเศรษฐกิจและการหาเสียง จากการที่ “กกต.” ที่ผ่านมา ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ เป็นการประทับตรายอมรับว่า สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย 

ดังนั้นการหาเสียงในอนาคต โดยใช้นโยบายค่าจ้างสูงจะถูกพรรคการเมืองต่าง ๆ นำมาใช้ในการหาเสียง เพื่อแลกกับ Voter จะเห็นนโยบายค่าจ้างวันละ 1,000 - 2,000 บาท หรือมากกว่า

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนารายได้ปานกลาง ระดับสูงต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งปัจจุบันทุ่มสินค้าราคาถูกเข้ามาขายจนทำให้โรงงานปิดตัวแต่ละปีมากกว่า 1,300 แห่ง

ประการที่สอง การประชุมบอร์ดค่าจ้าง องค์ประชุมไม่จำเป็นต้องครบ 3 ฝ่ายคือนายจ้าง- ลูกจ้าง-ตัวแทนรัฐบาล หากฝ่ายใดไม่เข้าสามารถใช้มติ 2 ใน 3 พิจารณาปรับค่าจ้างได้ ซึ่งยังต้องตีความว่า สามารถทำได้หรือไม่

ประการที่สาม อัตราค่าจ้างของไทยจะเป็นอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้การลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจ ขณะที่จังหวัดห่างไกลจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ช้า เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนโดยเฉพาะด้านขนส่งและโลจิสติกส์

ประการที่สี่ การปรับค่าจ้างแต่ละปีสามารถทำได้หลายครั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคการเมือง การปรับสามารถแยกตามประเภทธุรกิจหรือปรับแยกตามธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจประเภท SMEs หรือในแต่ละจังหวัดยังสามารถกำหนดแยกพื้นที่จะปรับหรือไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงอัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่แม้แต่ในจังหวัดเดียวกันก็จะแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ลักษณะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับประเทศต่าง ๆ

ห่วงการเมืองหวังผลระยะสั้น

ดร.ธนิต กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคงไม่ใช่ค่าจ้าง 400 บาท แต่หากภาคการเมืองสามารถหาเสียง โดยใช้ค่าจ้างสูงแข่งขันเกทับ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงจากกลุ่มแรงงาน และเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ ก็นำนโยบายปรับค่าจ้างสูงสุดโต่ง โดยไม่ผิดกติกา “กกต.” ผลระยะสั้นจะตอบโจทย์แรงงาน เพราะมีรายได้สูงขึ้น

แต่ข้อเท็จจริงหากการแก้ปัญหารายได้แรงงานและประชาชน รวมถึงต้องการให้เศรษฐกิจในรูป GDP ขยายตัวในระดับสูง ปัญหาไม่ได้แก้ง่าย ๆ ด้วยการปรับค่าจ้างให้สูงสุดโต่งแบบไม่สะท้อนเศรษฐกิจของประเทศที่ไทยเป็นประเทศส่งออกเข้มข้น (Export Oriental) 

ขณะเดียวกันไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรงงาน 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3 ใน 4 ใช้แรงงานเข้มข้น 

นอกจากนี้ไทยมีการทำการค้าเสรี (FTA) ทั้งกับอาเซียน-จีนและหลายประเทศ หากต้นทุนการผลิตสูงสินค้าภาษี “0” จะทะลักไหลเข้ามาแย่งตลาด ภาคการผลิตจะล้มหายตายจากหรือย้ายฐานการผลิต 

ดร.ธนิต ยอมรับว่า ปัจจุบันไทยถูกสินค้าจีนราคา ถูกทั้งออฟไลน์-ออนไลน์กำลังถล่มราคาจนอุตสาหกรรมรายเล็ก รายน้อย รวมถึงรายใหญ่ทยอยปิดตัวปีละ มากกว่าพันแห่ง ราคาสินค้าในประเทศจะพุ่งสูงจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายทั้งอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคจะสูง ราคาน้ำเปล่าขวดละ 30 – 40 บาท 

รวมถึงอาหารริมถนนทั้งก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวราดแกงจะเห็นราคา 300 กว่าบาท ค่าเช่าคอนโดรูหนูชานเมืองจะสูงเหมือนกับที่สิงคโปร์ นครโซล และกรุงโตเกียว ซึ่งราคาคอนโดห้องเล็กๆ ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท 

“การยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ของแรงงาน โดยภาคการเมืองเข้ามาบงการครอบงำปรับค่าจ้างสูง หากทำได้ง่ายๆ เช่นนี้หลายประเทศคงทำกันหมด นึกไม่ออกว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร” ดร.ธนิต กล่าวทิ้งท้าย