ฟ้องค่าเสียหาย “ปลาหมอคางดำ” 2,400 ล้านส่อยื้อ-ประกาศเขตภัยพิบัติงานยาก

10 ก.ย. 2567 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2567 | 11:02 น.

ประธานสมาคมการประมงฯ ชี้ชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงพื้นบ้านสมุทรสงคราม ฟ้องเรียกค่าเสียหายซีพีเอฟ 2,400 ล้าน กรณีปลาหมอคางดำส่อยื้อ ต้องหาพยานหลักฐานชัดเจนมาหักล้าง ขณะจี้รัฐประกาศเขตภัยพิบัตินำเงินฉุกเฉินมาเยียวยา งานยาก

กรณีกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมืองสมุทรสงครามกว่า 1,400 คน ได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้กับทนายจากสภาทนายความฯ เพื่อยื่นฟ้องบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ พร้อมกรรมการบริหารรวม 9 คนในคดีสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ได้ยื่นฟ้องแบบกลุ่มเพื่อเรียกสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน ในอัตราไร่ละ 10,000 บาท เป็นเวลา 7 ปี (ปี 2560-2567) และกลุ่มประมงพื้นบ้านเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวัน ในอัตราไร่ละ 500 บาท หรือปีละ 182,500 บาท เป็นเวลา 7 ปี และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีรายงานข่าวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ออกมาระบุกรณีบริษัทถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุนั้น บริษัทได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2554 ยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย และนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมได้ในที่สุด

ฟ้องค่าเสียหาย “ปลาหมอคางดำ” 2,400 ล้านส่อยื้อ-ประกาศเขตภัยพิบัติงานยาก

นายมงคล  สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ถือเป็นไปตามสิทธิของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านที่สามารถทำได้ แต่ที่สำคัญการฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อให้บริษัทฯจ่ายค่าสินไหมจะต้องมีหลักฐานที่แน่นอนและชัดเจน แต่หากหลักฐานไม่ชัดโอกาสที่จะชนะคงยาก และคาดจะใช้เวลาต่อสู้กันเป็นสิบปี คงไม่เร็ว

“ไม่เร็วหรอก เบื้องต้นทางศาลยังไม่ได้รับฟ้อง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าเข้าข่ายตามที่ร้องไปหรือไม่ หากรับฟ้องในส่วนของบริษัทเขาก็มีทนายความเก่ง  ๆ คงหาพยานหลักฐานมาหักล้าง และต่อสู้กันไป ใช้เวลา 5 ปี 10 ปี ซึ่งปัจจุบันเรื่องมันก็จะซา ๆ และเบาลงแล้ว จากก่อนหน้านี้อยู่ในช่วงกระแส ขณะที่การปราบปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศที่ร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วน โดยภาครัฐและเอกชนช่วยกันรับซื้อเพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ และป้อนโรงงานผลิตปลาป่น ก็ได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ ปลาเริ่มเบาบางลง”

ฟ้องค่าเสียหาย “ปลาหมอคางดำ” 2,400 ล้านส่อยื้อ-ประกาศเขตภัยพิบัติงานยาก

ขณะเดียวกัน จากที่ตัวแทนสภาทนายความในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์และตัวแทนประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงครามยังได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของภาครัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน จากหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ และะได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้เร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำเงินฉุกเฉินมาเยียวยาต่อผู้ผู้ฟ้อง ตามเวลาที่ศาลกำหนด และให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจากซีพีเอฟหรือผู้ก่อให้เกิดผลกระทบมาชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหายนั้น

นายมงคลกล่าวว่า เรื่องการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำงบฉุกเฉินของรัฐมาเยียวยาต่อผู้ฟ้อง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ขณะที่เรื่องนี้เกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว หากภาครัฐเห็นควรจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติคงประกาศไปนานแล้ว ก่อนหน้านี้ที่ร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลก็ยังไม่กล้าประกาศ

ขณะที่เวลานี้นางนฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ มารับไม้ต่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  ก็คงไม่นำเรื่องเสนอรัฐบาลเพื่อให้ความเห็นชอบประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะหากสถานการณ์และเวลาไม่เหมาะสม จะขอใช้เงินฉุกเฉินก็จะผิดวินัยการเงินการคลัง รัฐมนตรีที่นำเสนอเรื่องคงไม่กล้าเอาตำแหน่งไปเสี่ยง