ผ่านโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” เดิมพันประคองเศรษฐกิจ - แก้ปัญหาปากท้อง

05 ก.ย. 2567 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 18:09 น.

จับตานโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กับภารกิจหลักประคับประคองเศรษฐกิจไทย แก้ปัญหาปากท้อง ลุ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่านต่อโครงการค้างท่อรัฐบาลเดิม

KEY

POINTS

  • ผ่านโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ภายใต้ภารกิจสำคัญกับการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ ประคับประคองเศรษฐกิจไทย แก้ปัญหาปากท้อง
  • จับตานายกฯ แพทองธาร ดันนโยบายใหม่ พร้อมสานต่อโครงการค้างท่อรัฐบาลเดิม ปักธงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเดินหน้าต่อ แต่ปรับเงื่อนไข
  • ลุ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ แก้หนี้ครัวเรือน พร้อมทั้งการดึงดูดอุตสาหกรรม นักลงทุนต่างชาติ และการลงทุนโครงการพื้นฐานใหม่
     

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร วางไทม์ไลน์การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินไว้เรียบร้อย หลังจากคณะรัฐมนตรี ทั้งหมด 35 คน ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ โดยในวันที่ 7 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรี ได้นัดประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณารายละเอียดร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ก่อนจะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในช่วงระหว่างวันที่ 12 - 13 กันยายน 2567 นี้

 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

สำหรับแนวนโยบายเบื้องต้น เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลแพทองธาร จำเป็นต้องสานต่องานและโครงการสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังค้างอยู่หลายเรื่อง เช่นเดียวกับโครงการใหม่ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงเอาไว้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง 

เดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

หลักใหญ่ใจความของนโยบายที่สำคัญ เน้นหนักไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนหลายนโยบาย ตั้งแต่การลดค่าครองชีพ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ โดยเฉพาะนโยบายเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจำเป็นต้องสานต่อโครงการที่ทำมาแล้วครึ่งทาง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาฐานเสียงตามที่พรรคเคยให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ 

โดยที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท นี้ ยังไงก็เดินหน้าต่อ ส่วนจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไข รายละเอียดการแจกเงินเป็นรูปแบบใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเงินก้อนแรกที่ต้องเร่งทำให้ทันก่อนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567

เพิ่มกำลังซื้อประชาชน

ขณะเดียวกันยังต้องจับตาโครงการในระยะสั้นที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ผ่านนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือค่าจ้างขั้นต่ำ ก๊อกแรก 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลก่อนประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 

ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ วุฒิปริญญาตรี ให้ได้รับเงินเดือนแตะ 1.8 หมื่นบาท โดยที่ผ่านมาเริ่มต้นขึ้นไปแล้วในปีงบประมาณ 2567 ส่วนในปีงบประมาณ 2568 แม้ว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จะยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา แต่การจัดเตรียมกรอบวงเงินได้จัดทำเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยกำหนดเอาไว้ในวงเงินงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ วงเงิน 13,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังต้องติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน หลังจากตัวเลขหนี้ครัวเรือน ต่อ GDP ยังอยู่ในสัดส่วนสูง คือ 90.8% แม้ว่าจะชะลอตัวลงมาในช่วงไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท เพราะที่ผ่านมาในรัฐบาลก่อนมีเพียงแค่การขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบ และแก้หนี้สินไปได้เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น

จับตานโยบายด้านการเกษตร

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านภาคการเกษตร ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าในช่วงปลายปี 2567 เมื่อรัฐบาลแพทองธาร เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเต็มตัวแล้ว อาจจะมีนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการดูแลพืชเกษตรหลักของประเทศ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ออกมาทันทีหรือไม่ เช่นเดียวกับพืชรอง และพืชหลังนาต่าง ๆ ที่รัฐบาลใหม่อาจพิจารณาแนวทางส่งเสริมสานต่อรัฐบาลเดิม

นอกจากนี้ยังต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นหรือไม่ หลังจากช่วงรอยต่อรัฐบาล เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักขึ้นในหลายพื้นที่ อีกทั้งรัฐบาลยังต้องเตรียมความพร้อมกับการรองรับผลกระทบในฤดูแล้งที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย 

 

ผ่านโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” เดิมพันประคองเศรษฐกิจ - แก้ปัญหาปากท้อง

 

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนระยะกลางและยาวนั้น โครงการสำคัญอาจอยู่ในกลุ่มของการวางโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ผ่านโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำจากรัฐบาลก่อน ทั้ง โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-จีน โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ทั้งสายสีน้ำตาล และส่วนต่อขยายสายสีแดง ที่ยังรอต่อคิวเสนอเข้ามาในที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา

รวมไปถึงการพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลก่อนจุดพลุวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ด้านหนึ่งคือ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รวมทั้งศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค และศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวภูมิภาค ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องติดตามว่ารัฐบาลแพทองธาร จะหยิบแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขึ้นมาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ โดยเพาะแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น การถมทะเลบางขุนเทียน สร้างเมืองใหม่ หรือการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลด้วย

นโยบายดึงดูดการลงทุน

ผลพวงจากการเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ของรัฐบาลก่อน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาช่วงสั้น ๆ 1 ปีกับการเข้ามาบริหารประเทศ เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 15 ประเทศ ซึ่งการเดินทางไปแต่ละครั้ง ก็พยายามดึงดูดการลงทุน โดยเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า และดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูว่า รัฐบาลนายกฯแพทองธาร จะสานต่อนโยบายการดึงดูดการลงทุนต่ออย่างไร พร้อมทั้งต้องติดตามทีมงานของนายกฯ ด้วยว่า จะวางแนวนโยบายในการสานต่อการดึงดูดนักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มเครื่องยนต์เศรษฐกิจ คือการลงทุนภาคเอกชนติดแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งจันของประเทศ เพื่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย 

การหารายได้ใหม่เข้าประเทศ

ประเด็นหนึ่งที่มีแนวโน้มผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อเป็นรายได้ใหม่ของประเทศ นั่นคือ การเร่งสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex หลังจากรัฐบาลเดิมได้ยกร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร เป็นที่เรียบร้อย และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว หากผลักดันให้เกิดขึ้นได้ก็น่าจะดึงดูดเงินรายได้เข้าประเทศได้ แต่ทั้งหมดก็ยังต้องรอข้อสรุปถึงผลดี-ผลเสีย และฟังความคิดเห็นให้รอบด้านเสร็จก่อน

รายได้ใหม่อีกก้อน คือ แนวคิดการดึงเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน แต่ในรายละเอียดเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลแพทองธาร จะเริ่มลุยไฟเลยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำได้ไม่ง่ายดายนัก

ส่วนอีกกลุ่มรายได้ จะมาจากการส่งเสริมการตั้งฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น EV ซึ่งนโยบายรัฐบาลน่าจะสานต่อแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยมีต้นทุนเก่าอยู่แล้วกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ชั้นนำของภูมิภาค

จับตาดันงบซอฟต์เพาเวอร์

อีกเรื่องที่น่าจะได้รับการสานต่ออย่างแน่นอนนั่นคือ นโยบายเกี่ยวกับ “ซอฟต์เพาเวอร์” เพราะที่ผ่านมา นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ลงมากำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่รัฐบาลก่อน แต่การผลักดันงบประมาณด้านซอฟต์เพาเวอร์ลงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ก็อาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะงบมีจำกัด และอาจต้องถูกตรวจสอบจากกลไกรัฐสภาอย่างเข้มข้นแน่นอน

 

ผ่านโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” เดิมพันประคองเศรษฐกิจ - แก้ปัญหาปากท้อง

 

ด้าน ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เผมุมมองนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กับฐานเศรษฐกิจ ว่า ในระยะเวลาอันสั้น เชื่อว่า รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งออกนโยบายลดค่าครองชีพออกมาอย่างแน่นอน เช่น การลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปา ไฟฟ้า เพราะเป็นต้นทุนที่สำคัญกับชาวบ้านและภาคธุรกิจ จากนั้นน่าจะผลักดันเรื่องการเพิ่มรายได้ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี รวมทั้งดึงแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

“เชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องการลดค่าครองชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ คุมราคาสินค้า น่าจะเป็นนโยบายชุดแรกที่จะออกมาก่อน ส่วนการดูแลผลกระทบทั้งเรื่องภาษีหรืออะไรก็น่าจะออกตามมา เพราะตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหา เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่จะต้องเร่งทำ จากนั้นจึงน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุน และความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทำไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวทิ้งท้าย