นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจัดทำ Foresight ว่า ได้ภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย 4 ฉากทัศน์ โดยฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) คือ ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือกอีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่
1.ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรมและเกษตรยั่งยืนของคนไทยและชาวต่างชาติ
2.ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ประยุกต์วัฒนธรรมอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นร่วมกับธุรกิจอาหารในทุกมุมของประเทศ
3.ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูป Plant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกสินค้า Plant-Based ที่มีคุณภาพ และมูลค่าสูง เพื่อตอบรับความต้องการของตลาดโลก
จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าอาหารจากพืชของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ดังนี้
1. ด้านการผลิตและแปรรูป ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม Plant-Based Food ที่สำคัญของโลก ผ่านการส่งเสริมคุณภาพการผลิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทักษะด้านต่าง ๆ ให้มีความพร้อม
2. ด้านการตลาด ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้า ขยายฐานลูกค้าทั้งใน
และต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรม เชิงเกษตรยั่งยืน และเชิงสุขภาพ รวมทั้งสร้างแบรนด์ สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้โดดเด่นและให้ชุมชนมีส่วนร่วม
3. ด้านวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้าน Plant-Based Food ระดับโลก ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และเผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยพัฒนา
4. ด้านฐานข้อมูล ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและ Plant-Based Food เพื่อใช้วางแผนการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลพืชศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม Plant-Based Food ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
5. ด้านการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพสินค้า และสร้างความยั่งยืนในกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากร อาทิ
6. ด้านกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และ Plant-Based Food เพื่อสร้างกรอบที่ชัดเจนและทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตอบสนองความต้องการของตลาด อาทิ การจัดทำข้อกำหนดฉลากอาหารจากพืชของไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค
และพิจารณาทบทวนการปรับลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี GMO
นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สนค. ได้จัดทำแผนที่นำทางหรือโรดแมป (Road Map) สำหรับการพัฒนาสินค้าอาหารจากพืชของไทย พ.ศ. 2567 – 2576 ที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งเป็นระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะยาว
เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย รวมถึงหน่วยทุน และหน่วยสนับสนุนทางการค้า สตาร์ทอัพ และ SMEs ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน
เพื่อร่วมกันพัฒนาสานต่อการสร้างภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคตระดับโลก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับคนไทยและพลเมืองโลก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะมอบสิ่งนี้ให้กับโลก