เร่งบิ๊กโปรเจ็กต์ อีอีซี 2 ล้านล้าน ส่งต่อ‘แพทองธาร’ดึงลงทุน

23 ส.ค. 2567 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 08:35 น.

รัฐบาล “แพทองธาร” รับไม้ต่อ รัฐบาล “เศรษฐา” เร่งเครื่องบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี 2 ล้านล้านบาท โฟกัสไฮสปีด 3 สนามบิน-เมืองการบินอู่ตะเภา-ท่าเรือ-เมืองใหม่บางละมุง ดูดลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังภูมิธรรมลงพื้นที่ UTA เข้าลงทุนได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

KEY

POINTS

  • รัฐบาล “แพทองธาร” รับไม้ต่อ รัฐบาล “เศรษฐา”
  • เร่งเครื่องบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี 2 ล้านล้านบาท โฟกัสไฮสปีด 3 สนามบิน-เมืองการบินอู่ตะเภา-ท่าเรือ-เมืองใหม่บางละมุง ดูดลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
  • หลังภูมิธรรมลงพื้นที่ UTA เข้าลงทุนได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

โครงการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีการเร่งรัดต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จนถึงรัฐบาลเศรษฐา

ล่าสุดส่งไม้ต่อให้กับรัฐบาลแพทองธาร หลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และคาดว่าภายในปีนี้ หรือต้นปีหน้าจะได้เห็นภาคเอกชนเข้าพื้นที่ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด)เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่บางละมุง

รวมถึงการลงทุน เพื่อขีดความสามารถของท่าเรือและการขนส่งทางน้ำของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังไม่รวมโครงการข่ายทางถนน เชื่อมต่อโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ซึ่งรวมมูลค่าแล้วกว่า2ล้านล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

ที่ประเมินว่าหากแล้วเสร็จอีอีซีจะกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการขนส่งทั้งบก- ราง-น้ำ-อากาศระดับโลก ขณะความคืบหน้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการ ฯอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดสัญญา

โดยอยู่ในขั้นตอนแก้ไขถ้อยคำในสัญญา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอกพอ. ภายในกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก กพอ.แล้วจะเสนอรายละเอียดสัญญาที่มีการปรับแก้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบ

เมื่อตรวจแล้วเสร็จจึงจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสัญญาฉบับใหม่ หากเห็นชอบจะเริ่มลงนามในสัญญากับเอกชน เบื้องต้นภาพรวมดำเนินการยังอยู่ในกรอบ คาดว่าจะลงนามกับเอกชนได้ภายในปี 2567

หลังจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 ไม่เกินภายในต้นปี 2568

ส่วนการวางหลักประกันทางการเงินที่เอกชนต้องดำเนินการนั้น เอกชนขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินสนับสนุนงานโยธา

โดยมีประเด็นเพิ่มเติม เนื่องจากช่วงหลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จจะต้องมีการจัดหาระบบและตัวรถไฟฟ้า การทดสอบเพื่อให้บริการตามกำหนด ซึ่งเอกชนจะต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม งานระบบ O&M อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อความเชื่อมั่นในส่วนของการเดินรถว่าจะไม่มีความเสี่ยง

หากมีปัญหาในอนาคต รัฐมีเงินในการจัดหารถเอง ซึ่งมีการเจรจาให้ทางเอกชนสามารถนำหลักประกันในส่วนของค่าก่อสร้างที่ยังไม่ได้เบิกคืนมาวางในส่วนของระบบ O&M ได้

ทั้งนี้เอกชนต้องวางแบงก์การันตี ทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท

2. แบงก์การันตีเต็มวงเงินค่าก่อสร้างหรือในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท

3. แบงก์การันตี งานระบบและตัวรถไฟฟ้า วงเงิน 40,000 ล้านบาท สำหรับการแก้ไขสัญญาที่ได้ข้อยุติแล้วได้แก่ ปรับการผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท

บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด แบ่งเป็นงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง กพอ.ได้เห็นชอบและรายงาน ครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ร่างแก้ไขสัญญาฉบับนี้จะยกเลิกเงื่อนไขให้ผู้รับสัมปทานฯ ต้องขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่าถอนสภาพลำรางสาธารณะก่อน

ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น ทางกองทัพเรือ ได้เปิดประมูลโครงการก่อสร้างรันเวย์ 2 และทางขับ

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้ชนะการประมูลในราคาค่าก่อสร้าง 13,200 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ขณะความคืบหน้าพัฒนาโครงการฯของบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA นายจุฬา กล่าวว่า อีอีซี ได้สรุปหลักการการเข้าไปลงทุนของ UTA ให้โครงการนี้ไปแล้ว โดยจากเดิมขยายการลงทุนจาก 4 ระยะ ขยายออกไปเป็น 6 ระยะ

โดยเฟสแรก จากเดิมจะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคนต่อปี ก็ให้ลดลงเหลือ 12 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการในปี 2570

แต่เมื่อผู้โดยสารมีแนวโน้มจะขยายตัวถึง 80% ก็จะต้องทยอยสร้างต่อในเฟสต่างๆต่อไป โดยที่ท้ายสุดปลายทางในเฟสที่ 6 จะยังคงจำนวนตามแผนเดิมคืออยู่ที่ 60 ล้านคนต่อปี ในปี 2603 รวมถึงการปรับเกณฑ์จัดสรรรายได้และการจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐใหม่ ให้สอดคล้องกับการขยายเฟสที่เกิดขึ้น

ซึ่งถือว่าเป็นการเยียวยาภาคเอกชนจากผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเอกชนอยากให้เยียวยามากว่านี้ยังไม่ได้มีการหารือกันแต่อย่างใด

ส่วนการลงทุนของ UTA จะเข้าลงทุนได้เมื่อไหร่นั้น ขณะนี้ยังต้องรอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินของรฟท.กับบริษัทเอเชียเอราวันจำกัดเครือซีพี เป็นคู่สัญญาก่อน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่าผมหวังว่า อีอีซี น่าจะออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มโครงการ (NTP) ให้ UTA เข้าไปลงทุนได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจากในสัญญา 5 ข้อที่เป็นเงื่อนไขในการออก NTP มีการดำเนินการแล้ว 4 ข้อ ได้แก่

1.มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน 2.ระบบไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค 3.การรื้อย้าย เพื่อส่งมอบพื้นที่ 4.การประกวดราคารันเวย์ 2 ของกองทัพเรือ (ทร.) ยังเหลือเพียง 1 ข้อ คือ การทำแผนก่อสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องหารือร่วมกันถึงการวางตำแหน่งและบริหารสถานีรถไฟเชื่อมต่อ สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร และทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับสนามบินซึ่งก็ต้องรัฐเคลียร์ปัญหาไฮสปีดเทรน 3 สนามบินให้ได้ข้อสรุปก่อน

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ร่วมกับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด โดยเป็นการเริ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายและระบบการขนส่ง

ทั้งนี้การก่อสร้างงานส่วนที่ 2 เป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางทะเลที่ กทท. อยู่ระหว่างเร่งรัดให้กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า GPC ได้ในเดือน พ.ย. 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570

ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี จากเดิมที่ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี

ขณะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 มีมูลค่างาน 7,298 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าเรือมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก

ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งที่ต่อเนื่อง พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสินค้าประเภทต่างๆ การดำเนินงานประกอบด้วย

งานก่อสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่ งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ “โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สัญญา 2 เป็นอีกหนึ่งสัญญาที่งานค่อนข้างยาก และใช้ระยะเวลาดำเนินการนานถึง 1,260 วัน หรือกว่า 3 ปีแล้วเสร็จ

การท่าเรือฯ จึงมีนโยบายจะเร่งรัดผู้รับเหมาให้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนสัญญากำหนด โดยคาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) หลังจากนั้นเอกชนจะสำรวจพื้นที่ก่อนเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือน ต.ค.นี้”

นายเกรียงไกร กล่าว นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างหลักภายใต้ความรับผิดชอบของ กทท. ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 37%

ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568

เร่งบิ๊กโปรเจ็กต์ อีอีซี 2 ล้านล้าน ส่งต่อ‘แพทองธาร’ดึงลงทุน

สำหรับภาพรวมพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในแผนกำหนด กทท.มั่นใจว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC ตามสัญญา โดยปัจจุบันจะเร่งรัดแผนงานส่วนของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ซึ่งเป็นงานฐานรากของโครงการให้เสร็จก่อนกำหนด

หลังจากนั้นงานสัญญาที่ 3 และสัญญาที่ 4 จะเป็นงานที่ไม่ใช้เวลาดำเนินการมาก จึงมั่นใจว่าท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเรือ F จะเปิดให้บริการได้ราวเดือน ธ.ค.2570-ม.ค.2571 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี