นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ออกประกาศเชิญชวน และจำหน่วยเอกสารประกวดราคาจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) งานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ตามประกาศการรถไฟฯ ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2567
โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567
ขณะที่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 การรถไฟฯ กำหนดให้เอกชนที่ได้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว นำเอกสารส่วนที่เป็นข้อเสนอด้านเทคนิคเพิ่มเติมมอบให้กับการรถไฟฯ
ที่บริเวณห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารทั้งสิ้น จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
4. กิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอสก่อสร้าง
สำหรับขั้นตอนต่อไป การรถไฟฯ จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะนำรายชื่อเสนอต่อคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติผลการพิจารณา
หลังจากนั้นจะประกาศผลผู้ที่ชนะการประกวดราคาทางเว็บไซต์ของการรถไฟฯ ประมาณเดือนตุลาคม จากนั้นการรถไฟฯ จะลงนามในสัญญาจ้างเอกชนกับผู้ชนะการประกวดราคาเพื่อดำเนินงานต่อไป
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566
โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม รวมระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี
ที่หยุดรถจำนวน 4 แห่ง ชานบรรทุกสินค้า 4 แห่ง และชานบรรทุกทหาร 1 แห่ง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 28,719,940,000 บาท
ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อจากช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ผ่านจังหวัดอุดรธานีและสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย เพื่อเติมเต็มระบบรถไฟทางคู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบรางทั้งการขนส่งสินค้า และโดยสาร
ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้ 1–1.50 ชั่วโมง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงลดและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์
อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศแล้วเสร็จตามแผนจะช้วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ
ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ตลอดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าได้ทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ