จุดบอดเศรษฐกิจไทย ความท้าทายที่ซับซ้อนมากกว่าตัวเลข GDP

20 ส.ค. 2567 | 07:00 น.

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อนกว่าที่เห็น แม้ GDP Q2 จะขยายตัว 2.3% แต่การลงทุนติดลบ ท้าทายรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เเต่การลงทุนที่ยังคงหดตัวกลายเป็นความท้าทายสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% แต่การลงทุนรวมกลับหดตัวถึง 6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8% ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 8.1% สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ 22.5% และการชะลอตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน

การลงทุนที่อ่อนแอ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ระบุว่า การบริโภคมีสัญญาณที่ดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในบางส่วน ขณะที่สัดส่วนการลงทุนถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ จะเห็นได้ว่ายอดขายยังหดตัว อาจมาจากความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและครัวเรือนยังไม่แข็งแรง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและรายได้ของประชาชนที่ยังไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควร อาจทำให้กระทบกับยอดการซื้อสินค้าคงทนในครึ่งปีหลังหรือที่เหลือของปี รวมทั้งในปีหน้า

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านสินค้าคงทน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนหรือหลายหลายประเทศ มีนโยบายรถเก่ามาแลกรถใหม่ หรือสินค้าคงทนอันเก่ามาแลกชิ้นใหม่

Digital Wallet และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือความคาดหวังต่อนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.2% แม้จะมีการคาดการณ์ว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะแผ่วลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้การคาดการณ์ GDP ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ 2.5%

"คิดว่ารัฐบาลคงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทางใดทางหนึ่งจะเป็น Digital Wallet หรือจะเป็นแนวทางอื่น คงไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจมาก แต่ขอให้เม็ดเงินเข้ามา สมมุติรัฐบาลบอกอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ลดขนาด หรือวิธีการ ก็คงไม่สําคัญเท่าความเร็วของเม็ดเงินในระบบ เพราะนักลงทุนกำลังจับตา ส่วนดิจิทัลวอลเล็ตหลายคนมองว่าอาจจะช่วยเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบางเท่านั้น เเละน่าจะเอางบประมาณไปไปลงอย่างอื่น" 

การลงทุนและความเชื่อมั่น ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

ความเชื่อมั่นในตลาดทุนยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเผชิญ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่เลื่อนการออกหุ้นและตราสารหนี้ออกไป หากรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ เศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสฟื้นตัวมากขึ้น เนื่องจากการเมืองที่มีเสถียรภาพและนโยบายที่ชัดเจนจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้

"เราเห็นแล้วว่าการลงทุนรวมทั้งสินค้าคงทนอ่อนแอ จึงอยากให้รัฐบาลทาร์เก็ตลงมาในจุดนี้ ส่วนความเชื่อมั่นสะท้อนให้เห็นจากตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดพันธบัตรรัฐบาลหลายบริษัทเลื่อนการออกทั้งหุ้น รวมทั้งตราสารหนี้ ถ้ารัฐบาลช่วยทําให้ความเชื่อมั่นกลับมาบรรยากาศน่าจะคึกคักขึ้น อีกด้านหนึ่งคือเสถียรภาพของการเมือง ถ้าการเมืองนิ่ง นโยบายชัดเจน มีการประสานงานระหว่างภาครัฐต่างโดยเฉพาะอาจจะเห็นการเงินการคลังไปด้วยกันได้ ก็จะดึงความเชื่อมั่นกลับมาจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ" 

เงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

เเม้ว่าล่าสุดเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ยังคงมีความท้าทายต่อความเชื่อมั่นในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล

"ค่าเงินบาทแข็งส่วนหนึ่งก็คือราคาทองคําที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจเป็นส่วนนึงที่เฟดจะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ แต่จุดที่จะทดสอบจริงๆ เรื่องความเชื่อมั่น คือ Private Investment เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศอย่างยั่งยืน" 

สัญญาณจาก ธปท.ลดดอกเบี้ย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 21 ส.ค. 2567 นี้ เป็นวาระที่ต้อง “จับตา” แต่มองว่าอาจยังไม่ใช่จังหวะในการ “ลดดอกเบี้ย” แม้ว่าจะมีสัญญาณว่ามีพื้นที่สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต หากโมเมนตัมเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะหากธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เริ่มลดดอกเบี้ย เช่น สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ ธปท.มีโอกาสในการลดดอกเบี้ยตาม

ความยั่งยืนในระยะยาว การแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ

โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเกิน 3% อาจเป็นไปได้ยาก ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญโดยเฉพาะ "ปัญหาเชิงโครงสร้าง" เช่นจะเป็น การขาดการพัฒนาผลิตภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาด้านการศึกษา การผลิตสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก 

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เสนอแนวทางในการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ปลดล็อกกฎระเบียบให้เข้ากับสภาพเเวดล้อมทางธุรกิจ การดึงดูดผู้มีศักยภาพมาทำงานในประเทศ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัยจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับ GDP ของประเทศในระยะยาว

"เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถ้าไม่ทําอะไร ศักยภาพก็จะลดลงเรื่อยๆ เหมือนคนแก่ ร่างกายจะค่อยๆ ถดถอยไป ถ้าไม่ได้มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ ตอนนี้เศรษฐกิจต่ำกว่า 3 %  หลายที่ประเมินและต่ำกว่า 2.5 % อีกไม่กี่ปีจะต่ำกว่า 2% ถ้าปล่อยไปอีกสัก 15-20 ปี อาจจะต่ำกว่า 1 % ซึ่งก็เป็นไปตามโครงสร้างประชากรรวมถึงเรื่องเทคโนโลยี เเต่ถ้าพูดง่ายๆ คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างโบราณ"