9 โจทย์ใหญ่ ท้าทาย “แพทองธาร” นำทัพ ศก.พ้นปากเหว สู้กำลังซื้อซบ-หนี้พุ่ง

16 ส.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 15:49 น.

เอกชนส่งเสียงรัฐบาลใหม่ จี้แก้เศรษฐกิจปากท้องพ้นหลุมดำ สารพัดปัญหารอขับเคลื่อน ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อซบ สินค้าจีนท่วมตลาด หวังสานต่อเงินดิจิทัล เร่งเบิกจ่ายงบปี 67 ระดมทุนกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้าน นักวิชาการฟันธงจีดีพีปี 67 โตได้แค่ 1.5%

เหนือความคาดหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว กรณีได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองไทยถูกสั่นครอนอีกครั้ง กระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ทุกฝ่ายจับตามองฉากทัศน์ทางการมืองของไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ล่าสุด (15 ส.ค.67) กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้มีมติเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลได้มีมติพร้อมโหวตสนับสนุน

9 โจทย์ใหญ่ ท้าทาย “แพทองธาร” นำทัพ ศก.พ้นปากเหว สู้กำลังซื้อซบ-หนี้พุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ทุกฝ่ายตั้งตารอว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใคร โฉมหน้ารัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะเป็นใคร นโยบายเดิมของรัฐบาลชุดเดิม (รัฐบาลเศรษฐา) จะยังใช้ต่อหรือไม่หากยังเป็นรัฐบาลขั้วเดิม หรือจะมีการรื้อใหม่หมด ซึ่งจะส่งผลให้โครงการที่คิดจะทำต่าง ๆ อาจต้องมาเริ่มต้นใหม่

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ทั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อหดตัว การส่งออกไทยเผชิญปัจจัยลบจากสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ในประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง (91% ต่อจีดีพี) กดทับกำลังซื้อของประชาชน ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้าในประเทศยังถูกสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ไข

ลุยต่อท่องเที่ยวเข็นลงทุนอีอีซี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งสานต่อในหลายเรื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ ได้แก่ การการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ให้ได้ตามเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 37-39 ล้านคน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน สิ่งนี้เป็นประเด็นที่หอการค้ามีความเป็นห่วง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาแม้ภาพการท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้โดดเด่น แต่ในส่วนของกำลังซื้อและภาคการผลิตของไทยยังไม่ฟื้นตัวตามที่ควรจะเป็น จากค่าครองชีพของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นแรงกดดันให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกันเรื่องเร่งด่วนที่หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าเต็มที่คือ 1.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุด 2.ในระหว่างเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก ยังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ อยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้ง่ายและสะดวก

3.ส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นโอกาสให้ SMEs 4.ในระยะกลางและยาวให้วางแผนบริหารจัดการปัญหานํ้าท่วมและนํ้าแล้งซํ้าซาก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคเกษตร และรายได้ของเกษตรกร

หวังสูงนายกฯใหม่-ครม.ใหม่

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ คือ นายกรัฐมนตรีต้องมีความสามารถในการเป็นผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีที่ดูแลนโยบายด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นธงนำหลักของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะที่ดีพอในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะทุกประเทศต่างแข่งขันด้วยการท่องเที่ยวเช่นกัน

อดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์

“กรณีที่คุณเศรษฐา ไม่ได้ไปต่อ มองว่าถ้านโยบายยกเว้นวีซ่า และ ผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ ที่เป็นเครื่องมือหลักผลักดันการท่องเที่ยวไม่ได้เปลี่ยนแปลง ก็คงไม่มีผลกระทบในภาพใหญ่”

ขอดันต่อดิจิทัล วอลเล็ต

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะเวลานี้จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ประชาชนมีความกังวลถึงนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต อาจไม่เป็นไปตามกำหนดที่วางกรอบไว้ แต่ยังเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวไม่ล้มแน่นอน แต่อาจพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของการสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และแรงงาน

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ขณะที่หากมีแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่แล้ว อยากให้ช่วยพิจารณามาตรการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายรายได้สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น 2.มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการและลดค่าครองชีพประชาชนและแรงงาน 3.มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนตํ่าของเอสเอ็มอีและการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ

4. มาตรการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการและแรงงานให้มีทักษะ สมรรถนะพร้อมแข่งขัน รองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างงาน 5.การแก้ไขปัญหา อุปสรรคของผู้ประกอบการด้านกฎหมาย กฎระเบียบภาครัฐให้อำนวยความสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ง่าย ลดค่าใช้จ่าย และ 6. ยุทธศาสตร์การค้า การลงทุนที่รองรับทุนข้ามชาติที่สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เร่งดิจิทัล-วายุภักษ์-หุ้น ก.คลัง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพทางการเมืองเป็นแค่การเปลี่ยนตัวบุคคล เพราะมีแคนดิเดตนายกฯคนใหม่แล้ว โอกาสที่จะดาวน์ไซซ์เศรษฐกิจน่าจะลดน้อยลง เพราะนโยบายเดิมไม่น่ากระทบ และน่าจะมีการสานต่อ “ดิจิทัล วอลเลต” ให้มีข้อสรุปในเดือน ธ.ค. 2567

“นโยบายเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องทำคือ ทำเรื่องเดิมนโยบายเดิมให้สำเร็จสักอย่างก่อน ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าตลาดจะให้ความสนใจใน 3ประเด็น คือ 1.บทสรุป “ดิจิทัล วอลเล็ต” 2.การระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ (1.5 แสนล้านบาท) 3.การขายหุ้นที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการสานต่อนโยบายที่ประกาศไปแล้วง่ายกว่าทำนโยบายใหม่”

ตลาดทุนต่างชาติ wait & see

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ คือ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นทั้งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน และมาตรการดูแลคนมีรายได้น้อย เพราะที่ผ่านมาใช้เวลานานกับการรอ “ดิจิทัล วอลเล็ต”อาจจะไม่มีเลยสำหรับในปีนี้ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการกระตุ้นระยะสั้นก่อนสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้มีงบประมาณแล้ว

ส่วนผลกระทบด้านตลาดทุนนั้นนักลงทุนต่างชาติยัง wait & see เพราะยังดูไม่ออกว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ต้องจับตา นักเศรษฐศาสตร์คงมองเรื่องงบประมาณ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร จะมีความล่าช้าหรือไม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

“สำหรับมุมมองต่อตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาส 2 ที่สภาพัฒน์จะประกาศในวันที่ 19 ส.ค. นี้ มองว่า มีโอกาสขยายตัวที่ 1.8% ถือว่าโตตํ่ากว่าคาด ซึ่งต้องอาศัยมาตรการภาครัฐในการกระตุ้น ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อนจีดีพีไตรมาสที่ 2 สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มแผ่ว ขณะที่ฟันธงว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 21ส.ค.นี้ แม้ไม่หวังผลในเชิงกระตุ้น แต่เพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงไปมากกว่านี้

แก้ปัญหาทุนจีน รมต.เก่งคุม DE

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group ผู้บุกเบิกวงการอี-คอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัลเมืองไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญขณะนี้คือ การแก้ปัญหาทุนจีน โดยควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะจากเดิมต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ควรผลักดันให้ภาครัฐมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และตั้งรัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีจริงๆ เข้ามาขับเคลื่อน

ส่วนเรื่องดิจิทัล วอลเล็ตที่มีกระแสข่าวยกเลิกนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก โดยมองว่ารัฐบาลควรนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ไม่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจหมุน 3-4 รอบ และหากดำเนินการต่อก็ไม่รู้ว่าใครทำ เนื่องจากงบประมาณน้อย และเวลาจำกัด ไม่รู้ว่าจะเสร็จทันหรือไม่

จีดีไทยคาดโตตํ่า 3 ปีต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการ เมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ และตกสุญญากาศมาเป็นระยะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ และกระทบความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุนของต่างชาติ คาดจะส่งผลให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1.2-1.5% จากเดิมคาดการณ์จะขยายตัว 2.5-3.0% ซึ่งจะเป็นขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัว 1.9% และปี 2565 ขยายตัว 2.6%

“คาดการณ์เศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.2-1.5% ซึ่งแย่กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากคนไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ถูกสินค้าจีนเข้าถล่มตลาด”

อสังหาฯ หวังสานต่อนโยบายเดิม

นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า จะเกิดสุญญากาศโครงการของภาครัฐที่รอเรื่องเข้า ครม. ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วคาดว่านายกฯ และครม.ชุดใหม่น่าจะเดินหน้าต่อ ส่วนครม.มีมติมอบกระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินศึกษาความเป็นไปได้ ขยายระยะเวลาเช่าที่ดิน และเพิ่มโอกาสต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุด มองว่าน่าจะเดินต่อได้

นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ต้องการให้ครม.ชุดใหม่สานต่อนโยบายเดิม โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันการแก้ไขกฎหมายอ้างอิงสิทธิได้ถึง 99 ปี และเปิดให้ชาวต่างชาติถทอครองกรรมสิทธิห้องชุดได้ในสัดส่วน 75% นั้น ได้ผ่านการเห็นชอบชอบครม. แล้ว อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ เชื่อว่าในเรื่องนี้ก็จะสามารถเดินต่อได้

ดึง“คนละครึ่ง” E-Receipt กระตุ้น

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ หากเป็นแผนระยะสั้นคือ การใส่เงินเข้าไปในระบบ ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อฐานราก หรือโครงการ Easy E-Receipt เพื่อกระตุ้นคนในระดับกลางขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อออกมาจับจ่าย ส่วนแผนระยะยาว คือต้องทำให้เกิดการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานตามมา และเมื่อเกิดการจ้างงานก็จะมีรายได้มาจับจ่าย

“หลักการคือ ทำอย่างไรให้เกิดการลงทุน เพราะวันนี้เงินในระบบแห้งเหือดมากแล้ว รัฐบาลควรจะต้องใส่เงินเข้าสู่ระบบทันที และอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ supply side ทั้งอสังหาฯ และรถยนต์อยู่ในช่วงขาลง เหลือเพียงการท่องเที่ยวที่ยังดี แต่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนไทยออกมาเที่ยวและใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการคืนภาษีให้ หรือลดภาษีนำเข้าสินค้าลักชัวรี เพื่อให้คนไทยได้จับจ่ายแทนการบินไปซื้อในต่างประเทศ”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4019 วันที่ 18 -21 สิงหาคม พ.ศ. 2567