“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ตรึงราคา เดินหน้าสยายปีกบุกภูธร

10 ส.ค. 2567 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 13:24 น.

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ปลื้มครึ่งปีแรกยอดขายเติบโต 7-10% เดินหน้าสยายปีกรุกหัวเมืองใหญ่ - เมืองรอง ยืนยันตรึงราคาหลังต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงขยับขึ้น มั่นใจสิ้นปีเติบโตไม่น้อยกว่า 15%

ตลาดกาแฟไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 8.55% ต่อปี โดยในปี 2566 พบว่าตลาดกาแฟไทยมีมูลค่าราว 3.44 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 7.34% เมื่อเทียบกับปี 2565

โดยกาแฟสำเร็จรูปยังครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุด มีมูลค่า 2.89 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 84% ส่วนกาแฟสดมีมูลค่า 5,519 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของมูลค่าตลาดกาแฟไทย (ข้อมูลอ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์)

นางนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเดอะ คอฟฟี่ คลับ ประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 โดยมียอดขายเติบโตขึ้น 32% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นางนงชนก สถานานนท์

ทำให้สามารถทำรายได้ถึง 800 ล้านบาท และสร้างกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากเผชิญกับผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผลประกอบการติดลบ ทำให้ เดอะ คอฟฟี่ คลับ ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจโดยมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าคนไทยผ่านการเปิดสาขาใหม่ในทำเลที่สำคัญ อาทิ โบ๊ท ลากูน, โอลด์ทาวน์, พาร์ค สีลม, สเตย์บริดจ์ ทองหล่อ และเดอะปาร์ค

ซึ่งการขยายสาขาในครั้งนี้ได้ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นและสามารถดึงดูดลูกค้าชาวไทยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นนอกจากนี้บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูธุรกิจในทุกด้าน ทำให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลกำไรได้ในที่สุด

สำหรับไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเดอะ คอฟฟี่ คลับเติบโตได้ 7-10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่าสาขาต่างจังหวัดมีการเติบโตมากกว่า ทำให้แผนธุรกิจสำหรับครึ่งปีหลังจะขยายสาขาใหม่ในหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรอง

ซึ่งเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลพัทยาในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนปลายปีมีแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติมที่ภูเก็ต เป็นร้านขนาดใหญ่มีพื้นที่ 180-200 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 8-10 ล้านบาทต่อสาขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ

“ในครึ่งปีบริษัทจะใช้งบลงทุนราว 25 - 30 ล้านบาท ในการเปิดร้านใหม่และรีโนเวทร้านค้าเก่า 5-6 สาขา โดยตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายเติบโตอย่างน้อย 15% ส่วนงบลงทุนทำการตลาด 4% ของยอดขายทั้งหมด”

ปัจจัยบวกที่ทำให้ร้านกาแฟมีการเติบโตขึ้นมาจากคนไทยนิยมดื่มกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่วนปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ระมัดระวังการใช้จ่าย

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ตรึงราคา เดินหน้าสยายปีกบุกภูธร

เลือกซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงธุรกิจร้านกาแฟมีจำนวนมากขึ้น เกิดการแข่งขันที่รุนแรงร้านกาแฟหลายแห่งใช้วิธีการแข่งขันด้านราคา ลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าส่งผลต่อกำไรของร้าน

นางนงชนก กล่าวอีกว่า สำหรับราคาวัตถุดิบและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ทางร้านยังไม่จำเป็นต้องปรับราคาขายในทันที เนื่องจากกลยุทธ์หลักสองประการคือ1. กลยุทธ์การพึ่งพาลูกค้าต่างชาติ ร้านกาแฟของตั้งอยู่ในย่านท่องเที่ยว ซึ่งดึงดูดลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก ลูกค้ากลุ่มนี้มักมีความยืดหยุ่นต่อราคาสินค้ามากกว่าลูกค้าท้องถิ่น

2. กลยุทธ์การควบคุมต้นทุน ทางร้านมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หากราคาวัตถุดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางร้านอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับราคาขายบ้าง แต่จะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ตรึงราคา เดินหน้าสยายปีกบุกภูธร

ปัจจุบันเดอะ คอฟฟี่ คลับ มีทั้งหมด 42 สาขา โดยมีสัดส่วนลูกค้าเป็นคนไทย 40% และชาวต่างชาติ 60% อนาคตคาดหวังให้สัดส่วนเท่ากัน เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเป็นอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่งผลต่อยอดขายและรายได้ของร้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ มุ่งเน้นจับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้นในช่วงอายุ 25-45 ปี ด้วยการออกเมนูใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้า หรือ CRM ด้วยการโปรโมชั่นต่างๆสำหรับสมาชิก

เพื่อกระตุ้นยอดขายและดึงดูดลูกค้าใหม่ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 2 แสนรายและมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้านี้ต่อไปในอนาคต โดยร้านส่วนใหญ่เดอะ คอฟฟี่ คลับตั้งอยู่ในโรงแรมและแหล่งออฟฟิศ อาคารสำนักงาน สะดวกต่อกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน