ผ่ากลยุทธ์ “เดอะ คอฟฟี่ คลับ" หลังปี 66 พลิกทำกำไร!

30 มี.ค. 2567 | 05:30 น.

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ยิ้มรับ ปี 66 พลิกทำกำไรในสมรภูมิ Red Ocean เดินหน้าชูกลยุทธ์ขยายสาขา-ปรับเมนู-ดึงลูกค้าคนไทย ชี้ธุรกิจต้องโตแบบเสี่ยงน้อยที่สุด และต้องสร้างรอยัลตี้ให้มากที่สุด

KEY

POINTS

  • “เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ยิ้มรับ ปี 66 พลิกทำกำไร
  • เพิ่มสัดส่วนลกค้าคนไทย มอบสิทธิพิเศษผ่านระบบสะสมแต้ม เน้นโปรโมชั่นสำหรับพนักงานออฟฟิศ
  • เป้าหมายปี 2567 เพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยเป็น 40% ขยายฐานลูกค้าผ่าน Loyalty program

นางนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานของธุรกิจร้าน เดอะ คอฟฟี่ คลับใน ปี 2566 ที่ผ่านมา ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 32% เมื่อเทียบกับปี 2565 พลิกทำกำไรได้ในรอบหลายปี อันเป็นผลมาจากการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายทั้งการตอบโจทย์ลูกค้า 3 ส่วนหลักได้แก่ กลยุทธ์ขยายสาขา-ปรับเมนู-ดึงลูกค้าคนไทย

เราดำเนินธุรกิจมากว่า 18 ปีในตลาดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Red Ocean ที่การแข่งขันสูงทั้งคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม กลยุทธ์การตลาดที่ฝ่าการแข่งขันมาได้ ปรับเมนุให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ ที่พัฒนาจากอินไซด์คนไทยที่ปัจจุบันนิยมบริโภคชาไทยมากขึ้น การขยายฐานลูกค้าด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ผ่านระบบสะสมแต้มเพื่อสร้างรอยัลตี้ และการขยายสาขาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ผ่ากลยุทธ์ “เดอะ คอฟฟี่ คลับ\" หลังปี 66 พลิกทำกำไร!

โดยในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการขยายสาขาเพิ่ม 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาโบ๊ท ลากูน สาขาโอลด์ทาวน์ สาขาพาร์ค สีลม สาขาสเตย์บริดจ์ ทองหล่อ และเดอะปาร์ค  ส่วนในปี 2567 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • ร้านขนาดเล็กรูปแบบ Grab&Go รวม 4 สาขา ขนาดพื้นที่ 70-100 ตร.ม. ที่นั่งราว 30 ที่นั่ง ใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อสาขา เน้นพื้นที่ในกทม. ย่านพนักงานออฟฟิศ
  • ร้าน Café ขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ 180-200 ตร.ม. จำนวน 1 สาขา ที่นั่งราว 80 ที่นั่ง ลงทุนราว 8-10 ล้านบาทต่อสาขา คาดว่าจะเปิดในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว โดยตั้งงบลงทุนตลอดปี 2567 ไว้ที่ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนลงทุน จะทำให้ภายในสิ้นปี 2567 มีร้านเพิ่มเป็น 45 สาขาในไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เดอะ คอฟฟี่ คลับ" คลิกเลือกจังซีลอน ภูเก็ต นำร่อง Small Concept https://www.thansettakij.com/business/marketing/557128

สำหรับ Loyalty program เป็นหนึ่งในเครื่องมือ(CRM) ที่ทำให้ลูกค้าคนไทย หันมาเป็นลูกค้ามากขึ้น  เช่น มองสิทธิประโยชน์แอปพลิเคชัน The Coffee Club , การใช้ดับเบิ้ลพ้อย และ โมเดล Subscription ที่ลูกค้าสามารถซื้อแพครายเดือน 10-15 ครั้ง จะได้กาแฟในราคา 53-59 บาทต่อแก้ว จากปกติราคาเฉลี่ยหลักร้อย เพื่อเพิ่มความถี่ให้ลุกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หรือมีการจัดเซ็ตสั่งซื้อจำนวนเยอะจะถูกกว่าเพื่อตีตลาดพนักงานออฟฟิศเนื่องจากหลายสาขาอยู่ในเขตของคนทำงาน รวมถึงยังร่วมกับพันธมิตร อย่างเครือข่ายมือถือและบัตรเครดิต

ผ่ากลยุทธ์ “เดอะ คอฟฟี่ คลับ\" หลังปี 66 พลิกทำกำไร!

“เดิมทีสัดส่วนลูกค้าเดิมเป็นต่างชาติ แบ่งเป็น 65๔ % คนไทย 35% ทำให้แบรนด์ต้องบุกตลาดคนไทยมาขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 50:50 ซึ่งในปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลุกค้าคนไทยเป็น 40% โดยใช้กลยุทธ์ Loyalty program เราเริ่มจาก Upside-down ให้สิทธิประโยชน์ เริ่มจากกินฟรี ให้ลูกค้าได้ชิมก่อนเลย ถ้าโหลดแอปฯ จากนั้นเมื่อเขารู้ว่า กาแฟเราอร่อย แล้วก็จะเกิดการซื้อซ้ำ เพราะเราต้องการให้เกิดความถี่ นำไปสู่การบอกต่อลูกค้าคนอื่นๆ ปัจจุบันมีสมาชิกเมมเมอร์กว่า 2 แสนราย” นางนงชนก กล่าวเสริม

ตลอดจนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับใช้ Eco-Friendly Packaging แก้วกระดาษใส่เครื่องดื่มร้อน และแก้วไบโอผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย สำหรับใส่เครื่องดื่มเย็น การใช้ฝาแก้วแบบ Sip Lid ที่สามารถยกดื่มได้ไม่ต้องใช้หลอด ตลอดจนการให้ความสำคัญด้านสวัสดิภาพสัตว์ผ่านการใช้ไข่ไก่แบบ Cage Free Eggs ที่ผ่านวิธีการเลี้ยงแม่ไก่แบบปล่อยอิสระในโรงเรือนระบบปิด ที่สะอาด ปลอดภัย ช่วยให้แม่มีอิสระ อารมณ์ดี ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีสารอาหารครบถ้วน มาเป็นวัตถุดิบในการทำเมนูอาหารให้ลูกค้า เป็นต้น