รู้จัก Digital Wallet: ระบบจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 ที่ไม่ใช่แอปทางรัฐ

07 ส.ค. 2567 | 17:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 18:28 น.

ทำความรู้จัก“กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ Digital Wallet ระบบเปิดที่ใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ไม่ใช่แอปทางรัฐ เชื่อมต่อกับธนาคารและ non-bank รวมถึง trueMoney

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ออกมาชี้แจงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แอปทางรัฐ ที่เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่แอปที่ประชาชนสแกนใช้จ่ายเงิน หลังได้รับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

DGA ระบุอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันแอปทางรัฐยังไม่มีการ เชื่อมต่อบัญชีธนาคารและจัดเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด เป็นเพียงแอปที่ใช้ลงทะเบียนเท่านั้น เมื่อประชาชนได้รับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แล้ว สามารถสร้าง "กระเป๋าเงินดิจิทัล" จากแอปของธนาคารหรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเลิกทรอนิกส์รายใดก็ได้ ที่เข้าร่วมโครงการสำหรับรับและจ่ายเงิน

จึงเกิดคำถามตามมาว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet” ที่ใช้สำหรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้นมีรูปแบบอย่างไร?

รู้จัก “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet” ระบบจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ”พบว่าว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet” ที่จะนำมาใช้เป็นระบบชำระเงินในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น DGA เคยเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายให้เป็นแพลตฟอร์ม การชำระเงินกลางของประเทศไทย ที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านการเชื่อมต่อ กับผู้ให้บริการทางการเงินได้ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ

โดยหน่วยงานของรัฐ สามารถบริหารจัดการสิทธิ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง ระบบการชำระเงินทางดิจิทัลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

DGA มีความเห็นว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินจะช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือ ที่ตอบสนองการใช้งานของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยตอบโจทย์ทั้งการใช้งานของประชาชน และผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน และภาครัฐจะมีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนและผู้ประกอบการแบบตรงเป้าหมาย

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่าน Government Super Application โดยข้อมูลการร้องขอจะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มการชำระเงิน โดยประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันธนาคาร หรือแอปพลิเคชันทางการเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น PromptPay เป๋าตัง K-plus SCBeasy และ trueMoney เป็นต้น ในการชำระเงินหรือการรับชำระเงิน

การพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลในต่างประเทศ

สิงคโปร์ :  ได้พัฒนาระบบเพย์นาว (PayNow) เป็นระบบ e-payment โดยเริ่มต้น ในปี 2560 โดยประชาชนสามารถใช้ PayNow ชำระค่าบริการหรือสินค้าได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาชนสามารถเชื่อมบัญชีของธนาคารใดก็ได้ แล้วเชื่อมบนโทรศัพท์มือถือ รวมทั้ง ภาครัฐใช้เป็นช่องทาง ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชน

อินเดีย :โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้มีระบบการโอนเงินแบบดิจิทัลแห่งชาติ หรือเรียกว่า Bharat Interface for Money (BHIM) ซึ่งเป็นการชำระเงินแบบครบวงจรในระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนแนวคิด “อินเดียดิจิตอล” ที่ส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลและการสร้างความ เข้าถึงทางการเงิน

เอสโตเนีย : e-Government ของเอสโตเนีย ยังได้พัฒนาการให้บริการสาธารณะของรัฐ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เกือบทั้งหมด เช่น การแจ้งเกิด ใบมรณะ บัตรประชาชน ธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

“กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet” ซึ่งเป็นระบบชำระเงินที่ DGA กำลังพัฒนา จะเป็นระบบเปิด Open Loop ที่ไม่จำกัดการใช้งานเฉพาะกับธนาคารหรือสถาบันการเงินใดสถาบันการเงินหนึ่ง แต่จะเปิดโอกาสให้สามารถเชื่อมต่อกับธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) หลายแห่งได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งหมายความว่าระบบนี้ต้องรองรับการใช้งานจากธนาคารหลายแห่งและผู้ให้บริการทางการเงินหลายรายที่เข้าร่วมโครงการ

โดยประชาชน และร้านค้าที่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเลือกผูกบัญชีกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือ ระบบชำระเงินระบบใดระบบหนึ่ง เช่น PromptPay เป๋าตัง K-plus SCBeasy และ trueMoney โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ให้บริการรายนั้นต้องจัดทำระบบเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ DGA กำลังจัดทำอยู่

ลักษณะของ Open Loop นี้ทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้จากหลายสถาบันการเงิน และสามารถทำงานร่วมกับระบบการชำระเงินอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในตลาด ช่วยให้การเข้าถึงที่กว้างขวาง ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับธนาคารหรือ Non-bank ใดก็ได้ที่เข้าร่วม ทำให้มีความสะดวกในการใช้งานและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ

ข้อสังเกตุ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet”

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารฯ ได้เสนอแนะต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดทำ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet”เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก ด้วยระบบเปิด (Open Loop) ที่เชื่อมโยงกับธนาคารและ Non-bank อย่างกว้างขวาง

เพื่อให้มั่นใจว่าระบบ“กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet”  ที่จะนำมาเป็นระบบชำระเงินในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย คณะกรรมการนโยบายฯ จำเป็นต้องติดตามการพัฒนาระบบอย่างใกล้ชิด โดยต้องตรวจสอบมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัย ความถูกต้องน่าเชื่อถือ และความพร้อมใช้งานของระบบอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารจัดการ IT Governance ตามมาตรฐานสากล โดยต้องพิจารณาตรวจสอบระบบในส่วนต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนเริ่มใช้งาน

ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญรวมถึงการลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนและผู้ประกอบการ การพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงการตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงินผ่านระบบที่เชื่อมโยงกับภาคธนาคารและ non-bank อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธปท. ยังเน้นย้ำว่าการดำเนินการในลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ต้องมีการจัดทำและส่งมอบพิมพ์เขียวที่แสดง system architecture ของ payment platform ให้แก่ธนาคารและ non-bank โดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบตามกำหนดการ