ร้านค้าเมินเข้าร่วม ‘เงินดิจิทัลหมื่นบาท’

07 ส.ค. 2567 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 14:54 น.

ร้านค้าเมินเข้าร่วม “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ชี้ขาดความชัดเจน กังวลได้เงินคืนช้า ขาดสภาพคล่อง โดนเก็บภาษีย้อนหลัง ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่กวาดเรียบ เรียกร้องรัฐบาลกำหนดนิยาม เปิดทางร้านโชห่วยรายได้ไม่ถึง 5,000 บาทต่อวันเข้าร่วมและรับเงินสดได้ทันที

หลังเปิดลงทะเบียนขอรับสิทธิโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ก็เป็นคิวของร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียน

สำหรับกลุ่มร้านค้า สมาคมค้าปลีก-ค้าส่ง ในเดือนส.ค. 67, กลุ่มร้านค้า Suppliers เดือนก.ย. 67, กลุ่มร้านค้าทั่วไป เดือน ต.ค. 67 และปิดรับลงทะเบียนร้านค้าในเดือน พ.ย. 67 ก่อนที่จะเปิดระบบร้านค้ารับการใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop ในเดือน ธ.ค. 67 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการราว 2 ล้านแห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

โดยเงื่อนไขคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้ ได้แก่ 1.ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี

ร้านค้าเมินเข้าร่วม  ‘เงินดิจิทัลหมื่นบาท’

หากเป็นร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรก จะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น และร้านค้าต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์แบบรายเดือนในการลงทะเบียนรับสิทธิ

สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน-ถอนเงินสด วิธีการใช้จ่ายเงิน การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็กเท่านั้น ทั้งนี้ เงื่อนไขร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนด

ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า ทั้งนี้ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้ เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป โดยร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้เฉพาะร้านค้าที่มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

โดยมีการยื่นขอเบิกจ่ายผ่านผู้จัดทำระบบและผู้จัดทำระบบมีหน้าที่โอนเงินให้ร้านค้าที่เบิกจ่ายโดยตรงเท่านั้น ล่าสุดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ได้ประกาศเลื่อนวันแถลงข่าวกำหนดให้ลงทะเบียนในส่วนนี้ออกไปก่อน จากเดิมที่จะแถลงในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. 67 ออกไปเป็นเดือน ก.ย.67 ทำให้ร้านค้าจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจและไม่ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการ

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ร้านค้าต่างๆ ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะยังไม่เคลียร์เรื่องของขั้นตอน และเงื่อนไขการเข้าร่วมต่างๆ และสิ่งสำคัญคือ ร้านค้าย่อยกลัวมากเรื่อง “ภาษี

วันนี้รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่า ใครคือร้านค้ารอบที่ 1 (Tier 1) , รอบที่ 2 (Tier 2) และ รอบที่ 3 (Tier 3) หากบริษัทรายใหญ่ หรือบริษัทมหาชนที่มีร้านสาขาเป็นหมื่น เป็นเทียร์ 1 ขณะเดียวกันก็มีร้านขนาดกลางเป็นเทียร์ 2 เขาก็สามารถไปขึ้นเงินได้ทันที บริษัทใหญ่ย่อมได้เปรียบ ตรงข้ามกับร้านโชห่วย หรือร้านค้าย่อย เมื่อร้านค้าไม่กระจายก็จะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

สมชาย พรรัตนเจริญ

ดังนั้นรัฐบาลควรนิยามหรือให้คำจำกัดความที่ชัดเจน ว่าร้านขนาดเล็กควรมีพื้นที่เท่าไร เมื่อหลักเกณฑ์ไม่เคลียร์ และเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่มากเกินไป ย่อมส่งผลต่อร้านค้าย่อย ร้านขนาดเล็ก สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ กำหนดว่า ร้านโชห่วย ร้านเล็กๆ ที่มียอดขายไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สามารถเข้าร่วมและรับเป็นเงินสดได้ และไม่มีการตรวจสอบเรื่องภาษีย้อนหลัง

“หลายอย่างไม่ชัดเจน ไม่เคลียร์ ภาพที่ออกมายังเป็นการเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเมื่อเงินไม่กระจายอย่างแท้จริง โอกาสที่จะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจก็น้อย เป็นแค่พัดโบกเท่านั้น”

ด้านนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนให้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงขั้นตอนและกระบวนการจัดการ จึงต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนจัดโปรโมชั่น เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านค้าต่างๆที่เข้าร่วมโครงการด้วย

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์

นายประกอบ ไชยสงคราม บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการบอกตามตรงว่าไม่กล้าตอบรับหรือปฏิเสธเรื่องเงินดิจิทัลในตอนนี้ เพราะยังไม่มีสถาบันการเงินไหนออกมาพูดถึงการตอบรับนโยบายนี้ของรัฐบาล ยังไม่การันตีได้ว่าหากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจะสามารถและเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ และจะต้องรอระยะเวลาถือเครดิตไว้นานแค่ไหน ถือป็นประเด็นใหญ่มากเพราะเงินดิจิทัลไม่สามารถใช้หนี้กับซัพพลายเออร์ได้ ในขณะที่ประชาชนน่าจะใช้ได้จริง

“เรื่องเงินดิจิทัลผมไม่ได้อยากใช้มาตั้งแต่ต้น และเกิดคำถามว่าทำไมไม่ให้ประชาชนใช้แอปฯเป๋าตัง เพราะมีฐานข้อมูลประชาชนอยู่แล้ว ทุกคนใช้เป็น เข้าใจ เป็นเงินสดที่ผู้ประกอบการแลกได้ทันที ต้องถามเลยว่าทำไมมันยากจัง ประโยชน์ของเงินดิจิทัลกับเงินสดต่างกันยังไง ประชาชนมีแต่ความยุ่งยากและไม่เข้าใจ และต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับการเริ่มต้นใหม่อีกมากแค่ไหน แต่หากนโยบายนี้มีความชัดเจน แลกเงินคืนได้โดยที่เงินสดไม่หายผมยินดีเข้าร่วม”

เช่นเดียวกับนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน ที่กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องเงินดิจิทัลยังไม่ชัดเจน แน่นอนว่าร้านค้ารายย่อยระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่ยังไม่เข้าร่วมในตอนนี้

เพราะถ้าร่วมโครงการแล้วมีระยะเวลารอรับเงินคืน เช่น 30-90 วัน เหมือนดึงเงินสดออกจากร้านค้าแล้วรัฐบาลขอเครดิตทิ้งภาระค่าใช้จ่ายไว้ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการนี้ผู้ประกอบการร้านค้าหรือห้างภูธรกว่า 90 ราย ทั่วประเทศจะพูดคุยกันอีกครั้ง พร้อมร่วมพูดคุยกับซัพพลายเออร์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินดิจิทัลและทิศทางว่าจะเป็นอย่างไร แต่ละคนมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน