ชงสภากทม.จ่าย BTSC ล้าง "หนี้สายสีเขียว" 140 วัน

02 ส.ค. 2567 | 17:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 17:20 น.

กทม.เล็งชงสภาฯ ไฟเขียวงบสะสมจ่ายขาด 1.1 หมื่นล้านบาท เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว มั่นใจพร้อมจ่ายเงินภายใน 140 วัน

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวโดย ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้กทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 แบ่งเป็น ยอดหนี้เงินต้น จำนวน 2,199,091,830.27 บาท ดอกเบี้ย 149,567,402.47 บาท รวมเป็นเงิน 2,348,659,232.74 บาท

และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 แบ่งเป็นยอดหนี้จำนวน 8,786,765,195.47 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 619,653,523.89 บาท รวมจำนวน 9,406,418,719.36 บาทนั้น

ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเตรียมการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการจ่ายหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะการตรวจสอบเงินในคลัง การกำหนดวันจ่าย เนื่องจากมีดอกเบี้ยประมาณวันละ 2 ล้านบาท โดยจะต้องเสนอเรื่องเข้าสภากทม.เพื่ออนุมัติเงินสะสมจ่ายขาดเพื่อจ่ายหนี้ดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนพร้อมจ่ายเงินได้ภายใน 140 วัน นับจากนี้ไป

สำหรับคดีดังกล่าว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีทีเอสซี ได้ยื่นฟ้อง กทม. กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่งและช่วงตากสิน - บางหว้า ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลว. 3 พฤษภาคม 2555

และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการและช่วงหมอชิต - คูคต ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/59 ลว. 1 สิงหาคม 2559 กรณีไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทนั้นโดยบีทีเอสซี ได้มีหนังสือ ลว. 18 กันยายน 2563

หนังสือ ลว. 15 มกราคม 2564 ทวงถามไปยังกทม.และเคที ให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง

แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 กทม.มียอดเงินสะสมปลอดภาระผูกพันที่ 63,000 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายหนี้ครั้งนี้ จะคล้ายกับที่เคยจ่ายหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่า 23,112 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย. 67

ขณะที่คดีความที่เกี่ยวกับการค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถ ปัจจุบันนอกจากคดีที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาแล้ว ยังมีอีกคดีที่ BTSC ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถดังกล่าวด้วย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทเช่นกัน โดยเป็นหนี้เดินรถช่วงปี 2564-2566 ซึ่งยังรอการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นอยู่

ทั้งนีั ต้นทุนค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคตรวม 7,000 ล้านบาท/ปี โดยสามารถเก็บค่าโดยสารได้เพียงปีละ 2,400 ล้านบาท มีส่วนต่างที่กทม.ต้องอุดหนุนอีกปีละ 4,600 ล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าการให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดอายุในปี 2572 ว่า ปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) วงเงิน 20 ล้านบาท โดยจะอยู่ในร่างคำของบประมาณประจำปี 2568 ที่จะเข้าสภากทม. วันที่ 30 ก.ค.นี้ จะใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี

นอกจากนี้การเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เพื่อปลดล็อกโครงการนั้น ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กทม. ต้องการให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ทั้งนี้ตามขั้นตอนจะต้องมีการเสนอให้ ครม. พิจารณาผลการดำเนินการตามคำสั่งคสช.เดิมก่อน จากนั้นจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว

หลังการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.มีผลแล้ว จึงค่อนเสนอครม.พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการในลักษณะ PPP ต่อไป