แบงก์ชาติ แนะ ธ.ก.ส. บี้ชาวนาแบ่งเงินชดเชยประกันภัยข้าว จ่ายหนี้เก่า

21 ก.ค. 2567 | 10:35 น.
3.5 k

แบงก์ชาติ แนะ ธ.ก.ส. ทำโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 หาวิธีจูงใจ ชาวนาได้รับเงินชดเชยความเสียหาย มาเร่งจ่ายหนี้เพิ่มอีก 20% ของค่าสินไหมทดแทน หวังช่วยปิดหนี้จบเร็ว

กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 มีมติอนุมัติหลักการการดำเนิน โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 มีเนื้อหาระบุว่า ธปท. ไม่ขัดข้องในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีเครื่องมือ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติผ่านระบบประกันภัย โดย ธปท. มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรออกแบบให้มีกลไกสนับสนุน หรือโครงการจูงใจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรนำเงินที่ได้รับชดเชยความเสียหายมาชำระหนี้ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้นจาก 20% ของค่าสินไหมทดแทนตามที่โครงการกำหนด เพื่อปิดจบหนี้ที่มีกับ ธ.ก.ส. ได้เร็วขึ้น

2. ธ.ก.ส. ควรติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงโครงการต่อไป

3. ธ.ก.ส. ควรประชาสัมพันธ์โครงการและเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพื่อให้ข้อมูลแก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาทิ ผู้รับประโยชน์ค่าสินไหมทดแทน อัตราและการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล และ ธ.ก.ส. รวมถึงกรณีที่เกษตรกรซื้อประกันภัยภาคสมัครใจ (Tier 2) เพิ่มเติมด้วยตนเอง

4. ภาครัฐควรพิจารณากำหนดกรอบระยะเวลาการชดเชยเงินสำรองจ่ายและต้นทุนเงิน ให้ ธ.ก.ส. ให้ชัดเจนและเหมาะสม และเร่งจัดสรรงบประมาณให้แก่ ธ.ก.ส. เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ต่อไป

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 กำหนดพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงิน 2,302.16 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

ผู้รับผลประโยชน์ 

  • กรณีเกษตรกรเป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ให้ เกษตรกรผู้เอาประกันภัย เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน
  • กรณีเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไป (ภาคสมัครใจ) - เกษตรกรผู้ออกประกันภัย

อัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

Tier 1 

  • ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ 
  • เกษตรกรทั่วไป แยกเป็น พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 70 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่

Tier 2 

  • พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่

ความคุ้มครอง 

  • ภัยธรรมชาติ 7 ภัย Tier 1 1,190 บาทต่อไร่ และ tier 2 240 บาทต่อไร่ 
  • ศัตรูพืชหรือโรคระบาด Tier 1 595 บาทต่อไร่ และ tier 2 120 บาทต่อไร่

อัตราการอุดหนุนเบี้ยประกันภัย (เฉพาะ Tier 1)

1. ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 124.12 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส. อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ (จำกัดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปีการผลิต 2566- 2567 

2. เกษตรกรทั่วไป 

  • พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 75.47 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่
  • พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 214 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ 
  • พื้นที่ความเสี่ยงสูง 234.33 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่

ระยะเวลาโครงการ

  • ธ.ก.ส. เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยทั่วประเทศ (63 จังหวัด) ตั้งแต่วันที่ครม. มีมติถึง 31 กรกฎาคม 2567 ยกเว้นภาคใต้ (14 จังหวัด) สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567