“ธรรมนัส" เซ็นรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีจีโนม ภาคเกษตร

12 ก.ค. 2567 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 15:08 น.
711

“ธรรมนัส" เซ็นแล้ว “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567” ส่งต่อกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ เร่งประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้

 

นายรพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาค การเกษตร พ.ศ. 2567” ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการเดินหน้าสำหรับเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ใหม่(New  Breeding Techniques) ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome  Editing, GEd) ที่มีศักยภาพสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัยและจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ประมง จากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับเมื่อกำหนดสามสิบวัน นับตั้งแต่วันถัด จากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  

“ธรรมนัส\" เซ็นรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีจีโนม ภาคเกษตร

โดยประกาศดังกล่าวสอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตร IGNITE AGRICULTURE HUB จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตร และอาหารของโลก ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เทคโนโลยี GEd เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือเพื่อแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)ให้การยอมรับที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายประเทศทั่วโลก ได้ลงทุนงานวิจัย และอนุมัติการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd

อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลีญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศสำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืช การเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยี GEd จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

 

“ธรรมนัส\" เซ็นรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีจีโนม ภาคเกษตร

หลังจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีประกาศการขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม กรณีพืช ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมวิชาการเกษตร ประกาศกำหนด กรณีสัตว์น้ำ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมประมงประกาศกำหนด กรณี สัตว์ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด กรณีจุลินทรีย์ให้เป็นไปตาม  หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด โดยจะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขของกรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรองรับประกาศฯ ดังกล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ในส่วนของพืชที่กรมวิชาการเกษตรดูแลนั้น กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วนได้รับทราบ อาทิ เกษตรกร ประชาชน โดยใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เป็นช่องทางหลัก เน้นความบันเทิงสอดแทรกสาระ สร้างไวรัลในโลกออนไลน์ผู้ดูแลนโยบาย นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง นำเสนอภาพรวมของเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ นำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแล นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย สัมมนาวิชาการ รับ ฟังความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูล

“ธรรมนัส\" เซ็นรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีจีโนม ภาคเกษตร

รวมถึงสร้างมติทางวิชาการเพื่อกำหนด คำนิยาม สร้างเครือข่ายความร่วมมือทาง วิชาการ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ก็ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้มาในช่วงเวลาหนึ่ง แล้ว สำหรับในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนม ร่วมกันระดับประเทศ สร้างโมเดลพืชเริ่มต้น : พืช GEd ทดแทนการนำเข้า อาทิข้าวโพด ถั่วเหลือง, พืช GEd พลังงาน อาทิ อ้อย ปาล์มน้ำมัน พืช GEd ผัก สมุนไพร

“ธรรมนัส\" เซ็นรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีจีโนม ภาคเกษตร

เพื่อรองรับปัญหาวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศนอกจากนั้นในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และการพัฒนาบุคคลกรวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

"สำหรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม อย่างเป็นรูปธรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นการยกระดับศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของประเทศ  ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่ได้จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อรองรับภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนท้าย