การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะส่งผลกระทบต่อโลกในหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และอื่น ๆ เนื่องด้วยสหรัฐเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของโลกในแทบทุกด้าน ล่าสุดในการดีเบตครั้งที่ 1 ของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน มีคะแนนนิยมนำโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต 67 : 33
ทั้งนี้ CNN Poll พบว่าชาวอเมริกัน 70% ระบุพรรคเดโมแครตจะชนะเลือกตั้งได้ หากเปลี่ยนผู้สมัครจากไบเดน เป็นคนอื่นแทน ขณะที่ไบเดนยังยืนยันชัดเจน พร้อมเลือกตั้ง มีพระเจ้า (Lord Almighty) เท่านั้นที่จะทำให้เปลี่ยนใจ อย่างไรก็ดีหลายฝ่ายมองศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในครั้งนี้มีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะเป็นผู้ชนะ มีคำถามตามมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้หาก “ทรัมป์” คัมแบ็กได้กลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอีกครั้ง (ประธานาธิบดีคนที่ 47)
ค้าไทย-ค้าโลกเสี่ยงเพิ่ม
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง เศรษฐกิจ การค้าโลกจะมีความเสี่ยงใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1.สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี (2560-2563) ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องและกีดกัน โดยทรัมป์มีนโยบายชัดเจนในการปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการทำสงครามการค้ากับจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้า รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ
งานแรกที่ทรัมป์เคยทำคือการตรวจสอบ 16 ประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่ในอาเซียน สหรัฐ ฯ ขาดดุลการค้ากับเวียดนาม มาเลเซีย และไทยมากสุด และภายใต้ “American First” หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี ประเด็นนี้คาดจะเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว
“สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ปี 1970 (2513) และขาดดุลหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2000 (2543)เป็นต้นมา จาก 380 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1,311 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 (2565) และลดลงเหลือ 770 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 (2566) โดยช่วงที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีขาดดุลการค้าเพิ่มจาก 543 พันล้านดอลลาร์เป็น 858 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”
ทั้งนี้หากทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี อุตสาหกรรมการผลิตที่เชื่อมโยงกับสหรัฐฯ มีความเสี่ยง จะได้รับผลกระทบใน 2 เรื่องคือ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม และฐานการผลิตจีนที่ย้ายมาไทยและอาเซียนเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จะถูกตรวจสอบการทุ่มตลาด เสี่ยงถูกเก็บภาษีเพิ่ม อุตสาหกรรม และการค้าไทยกับสหรัฐจะสะทือน ขณะที่ทรัมป์มีนโยบายชาตินิยม และต่อต้านพหุภาคี โดยยกเลิกเข้าร่วม WTO, TPP, UNESCO, “Iran Nuclear Agreement” และ “Paris Agreement”
“สงครามการค้ากับจีนคาดจะทวีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น เพราะสงครามการค้าเริ่มต้นในสมัยทรัมป์ ซึ่งต้องจับผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพราะเวลานี้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อทำตลาดในประเทศและเพื่อส่งออกหลายค่าย ขณะที่รถอีวีจากฐานผลิตในจีนเวลานี้ถูกสหรัฐขึ้นภาษีจาก 27.5% เป็น 102.5% อนาคตสินค้ารถอีวีค่ายจีนที่ผลิตในไทยมีความเสี่ยงจะถูกขึ้นภาษี หากส่งออกไปขายในสหรัฐในราคาถูก รวมถึงในสินค้าอื่น ๆ ที่จีนตั้งฐานการผลิตในไทยและในประเทศอื่น ๆ”
ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ยังแรง
เรื่องที่ 2.ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในตะวันออกกลางอาจบานปลายและเข้มข้นขึ้นจากการสนับสนุนอิสราเอลของทรัมป์ เช่น กรณีการรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ยกเว้นกรณีไต้หวัน ทรัมป์จะลดการพึ่งพิงชิปจากไต้หวัน แต่หันมาผลิตเอง และไม่สนับสนุนไต้หวันทำสงครามกับจีน ขณะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทรัมป์จะลดการสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธให้ยูเครน และจะเจรจากับรัสเซียให้ยุติสงครามแทน โดยจะลดการสนับสนุนทางการเงินให้ยูเครน ซึ่งความเสี่ยงและภาระค่าใช้จ่ายจะตกกับประเทศในยุโรปและนาโต้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงถดถอย และฉุดเศรษฐกิจโลก
“หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่าชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศตนเองเป็นหลัก เหมือนกับที่อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือเซอร์ เคียร์ สคาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer) จากชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ส่งออกตั้งรับทรัมป์มีได้-เสีย
สอดคล้องกับนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่กล่าวว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ การทำสงครามการค้ากับจีนคาดจะรุนแรงขึ้น จากทรัมป์เป็นคนจุดประกายในเรื่องนี้ ขณะที่ดุลการค้าที่สหรัฐขาดดุลส่วนใหญ่คือดุลการค้ากับจีน ซึ่งไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากที่จีนมาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้วส่งออกสินค้าไปสหรัฐที่อาจถูกตรวจสอบเข้มข้นขึ้นว่าเข้าไปขายในสหรัฐในราคาต่ำ กระทบอุตสาหกรรมภายใน ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า
อย่างไรก็ดีในช่วง 10 ปี (2556-2566) ที่คาบเกี่ยวสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐ (ช่วงปี 2560-2563) การส่งออกของไทยไปสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 112% โดยสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 3 เท่า อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 7 เท่า ยางล้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 2 เท่า และเหล็กเพิ่มขึ้น 3 เท่า
“ตัวเลขดังกล่าวที่คาบเกี่ยวช่วงสงครามการค้าสหรัฐ-จีนในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดนชี้ชัดว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเราได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐบางส่วน ซึ่งปัจจุบันสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดย 5 เดือนแรกปี 2567 ตลาดสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการส่งออกไทย โดยการส่งออกไปสหรัฐของไทยเพิ่มขึ้น 12%”
อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ อาจมีการตรวจสอบประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐซึ่งรวมถึงไทย ในเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมในการให้ข้อมูลที่ชัดเจน และพร้อมให้ตรวจสอบว่าไทยเป็นพันธมิตรที่ดี และทำการค้าที่เป็นธรรมกับสหรัฐ ขณะเดียวกันต้องจับตามองว่าสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร และจะกระทบถึงไทยหรือไม่เพื่อวางแผนรับมือ รวมถึงการพัฒนามาตรฐานการผลิต และตัวสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่สหรัฐกำหนด
กังวลค่าระวางเรือพุ่ง 4 เท่า
“ผู้ส่งออกไทยจับตาการเลือกตั้งในสหรัฐ เพราะจะมีผลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลในเวลานี้คือค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ค่าระวางเรือเส้นทางไปยุโรปจากปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ขนาด 20 ฟุต เพิ่มขึ้นเป็น 4,500-5,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าเพราะเรือต้องวิ่งอ้อมแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้ เพื่อเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง ทำให้ต้องใช้เวลาเดินเรือเพิ่มขึ้น 20 วันกว่าจะถึงปลายทาง”
จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากการกรมศุลกากร ของ “ฐานเศรษฐกิจ” การค้าไทย-สหรัฐในปี 2566 ล่าสุดมีมูลค่ารวม 2.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยส่งออก 1.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.21% นำเข้า 6.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.94% ไทยเกินดุลการค้า 1.00 ล้านล้านบาท ส่วนช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-สหรัฐ มีมูลค่ารวม 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.73% โดยไทยส่งออก 7.60 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.40% นำเข้า 2.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.26% ไทยเกินดุลการค้า 4.64 แสนล้านบาท
สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปสหรัฐ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้า 5 อันดับแรกไทยนำเข้าจากสหรัฐ ได้แก่ น้ำมันดิบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4009 วันที่ 14 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567