สินค้ามะพร้าวรุ่ง 5 เดือนส่งออก 1.4 หมื่นล. กังวลต่างชาติยังโจมตีใช้ลิงเก็บ

06 ก.ค. 2567 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2567 | 09:39 น.

สินค้ามะพร้าวไทยรุ่ง 5 เดือนแรกส่งออกแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้าน ชี้อนาคตอากาศแปรปรวนกระทบผลผลิตวูบ ดันต้นทุนพุ่ง ตลาดส่งออกแข่งเดือดกับสินค้าจากเวียดนาม อินโดฯ กังวลจีนหันนำเข้ามะพร้าวไทยไปแปรรูปขายเอง องค์กรต่างประเทศยังโจมดีไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว

“มะพร้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สามารถนำไปแปรรูปส่งออก นำเงินตราเข้าประเทศในละปีเป็นจำนวนไม่น้อย ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2566 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว (อาหารและเครื่องดื่ม) มูลค่า 34,090 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% และในช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 ส่งออกมูลค่า 14,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารอนาคตไทย หอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ณ เวลานี้ ว่า จากการสำรวจของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเนื่องจากลูกค้าเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อกักตุน จากค่าขนส่งแพงขึ้น เรือขาดแคลน ปัจจัยดังกล่าวทำให้ลูกค้ากังวลว่าหากนานกว่านี้ค่าระวางเรือจะสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยพยายามส่งออกให้มากที่สุด

 

 

“อย่างไรก็ดีสินค้ามะพร้าวไทยในขณะนี้ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงจากสินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อีกทั้งปัจจุบันจีนลูกค้าสำคัญของไทยมีการเปิดโรงงานผลิตนํ้ามะพร้าวเอง จากเดิมนำเข้านํ้ามะพร้าวไทยเปลี่ยนไปเป็นนำเข้าวัตถุดิบมะพร้าวไทยไปแปรรูปผลิตเอง และยังคงมีปัญหาเรื่องค่าระวางเรือยังทรงตัวในระดับสูง ตู้สินค้าหายาก โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป ที่ต้องจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน”

สินค้ามะพร้าวรุ่ง 5 เดือนส่งออก 1.4 หมื่นล. กังวลต่างชาติยังโจมตีใช้ลิงเก็บ

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการโจมตีขององค์กรในต่างประเทศเรื่องลิงเก็บมะพร้าวยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ โดยโครงการ GAP Monkey Free Plus ยังไม่ได้รับการตอบรับจากคู่ค้า ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องใช้ Third Party ในการตรวจรับรอง เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ

ลิงเก็บมะพร้าว

 

สำหรับมะพร้าวเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ผลผลิตออกมากอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ปัจจุบันความต้องการมะพร้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจโลกและการท่องเที่ยว ค่อยๆ ฟื้นตัว

 

สินค้ามะพร้าวรุ่ง 5 เดือนส่งออก 1.4 หมื่นล. กังวลต่างชาติยังโจมตีใช้ลิงเก็บ

ทั้งนี้ในช่วงผลผลิตมะพร้าวไทยมีน้อยราวเดือนกันยายนถึงเมษายน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องนำเข้ามะพร้าวผลบางส่วนเพื่อเข้ามาชดเชยผลผลิตในประเทศ โดยปี 2567 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตมะพร้าวแก่จะมีราว 930,302 ตัน ลดลง 1.4% จากปีก่อน เนื่องจากความท้าทายด้านสภาพอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ และภัยแล้งที่มีอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งด้านภายภาพ ปริมาณ ความสมบูรณ์ขนาดของผลผลิต ทำให้คาดผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลลดลง

“ปัจจุบันสถานการณ์ด้านวัตถุดิบเริ่มดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มมีผลผลิตมะพร้าวออกมาตามช่วงพีคของมะพร้าว ผู้ประกอบการจึงชะลอการนำเข้าและรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศมากขึ้น ในด้านราคามะพร้าวมีการปรับลดลงบ้างเล็กน้อยตามกลไกตลาด โดยราคามะพร้าวผลหน้าโรงงาน 16-17 บาทต่อผล และราคามะพร้าวขาวอยู่ที่ 39 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566”

 

สินค้ามะพร้าวรุ่ง 5 เดือนส่งออก 1.4 หมื่นล. กังวลต่างชาติยังโจมตีใช้ลิงเก็บ

สำหรับสถานการณ์ด้านปริมาณและราคาทางกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้ามะพร้าวไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกะทิ นํ้ามะพร้าว และมะพร้าวสดแช่เย็นแช่แข็ง ปัจจัยหนึ่งมาจากการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้ชิมและถูกใจรสชาติอาหารแบบไทยๆ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,006 วันที่ 4-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567