เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

24 มี.ค. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 17:35 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำทัพลงพื้นที่เกาะพงัน เคลื่อนมาตรการเชิงรุก “ GAP Monkey Free Plus “ ตอกย้ำโลกอย่างต่อเนื่อง ไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว พร้อมมอบหนังสือรับรองแปลงผลิตมะพร้าวอินทรีย์ เล็งขึ้นทะเบียนผู้ตัดมะพร้าว รายได้วันละ 4,000 บาท ดันอาชีพท้องถิ่นมั่นคง

เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

วันที่ 24 มีนาคม 2566  นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ โดยทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมกันในการดูแลแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้มีการจัดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชในแบบธรรมชาติคือ การใช้แตนเบียนในการช่วยกำจัดหนอนหัวดำ ให้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

"กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีเข้าร่วมโครงการ “GAP Monkey Free Plus” ซึ่ง ได้มีการเปิดตัวโครงการดังกล่าวในเวทีประชุมมะพร้าวโลก “Consultative Virtual Meeting On Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus ซึ่งดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) ว่า กระบวนการไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง)จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต มาตรการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ICC และ Third Party สร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไทย ซึ่งก็มีเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว"

นายระพีภัทร์  กล่าวว่า ในพิธีมอบหนังสือรับรองแปลง "Organic Thailand Monkey Free Plus และ GAP Monkey Free Plus"แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์และไม่ใช้ลิงเก็บผลผลิต จำนวน 6 ราย มะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิงเก็บผลผลิต จำนวน 1 ราย ณ แปลงมะพร้าวอินทรีย์  จ. สุราษฎร์ธานี เพื่อยืนยันว่าการปลูกมะพร้าวของไทยไม่มีการใช้แรงงานลิง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวใหม่ หรือปลูกทดแทนในสวนเดิมด้วยพันธุ์ดี และสนับสนุนมาตรการ GAP Monkey Free Plus เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงการต่อยอดในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยต่อไป

เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

สำหรับ การทำสวนมะพร้าวอินทรีย์บนเกาะพะงัน แปลงนี้ใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการใช้ไม้สอยผลมะพร้าวไม่มีการใช้แรงงานลิง ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยวิธีการสอยมะพร้าวนับเป็นการสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในท้องถิ่น โดยมีค่าตอบแทนการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าวลูกละ 2 บาท เฉลี่ยสร้างผลตอบแทนให้แรงงานวันละ 4,000 บาท (2,000 ลูก/วัน) นับเป็นอาชีพที่ค่อนข้างได้รับค่าตอบแทนสูง

ในอนาคตจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ตัดมะพร้าว โดยก่อนหน้านี้นำร่องทุเรียนไปแล้ว  ขณะที่เจ้าของสวนมะพร้าว นอกจากจะมีรายได้จากมะพร้าวแล้วยังมีการทำสวนผสมผสานและการเลี้ยงผึ้งโพลงในสวนมะพร้าวอินทรีย์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในระบบการผลิตดังกล่าวสูงถึง 100,000 บาทต่อไร่ต่อปี

อย่างไรก็ดีในการทำสวนมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสานรูปแบบนี้จะมีการปลูกพูล หมาก และไม้ผล (ทุเรียน มังคุด และเงาะ) ร่วมกับมะพร้าว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร  60,000 ต่อไร่ต่อปี เช่นเดียวกับการเลี้ยงผึ้งโพลง ในสวนมะพร้าวที่วางเลี้ยงผึ้งโพลงได้ถึง 40 รังต่อไร่ เฉลี่ยให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 50-60 ขวดต่อปี ทำให้มีรายได้จากการเลี้ยงผึ้งโพลงประมาณ 40,000 บาทต่อปี

เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า การทำสวนมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสาน ร่วมกับการเลี้ยงผึ้งโพลงเสริมรายได้นอกจากจะสร้างความหลากหลายให้แก่สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมเป็นมรดกมีค่าส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไป สุดท้าย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จะได้นำต้นแบบการผลิตมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสานรูปแบบนี้ ไปพัฒนาต่อยอดทำเป็นโมเดลการผลิตพืชแบบผสผสาน (มะพร้าว หรือ หมาก และ พืชร่วม รวมถึง การเลี้ยงผึ้ง) 1 ไร่ 1 แสน ในการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Field day ภาคใต้ ครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2566 ต่อไป

 

เปิดเกมรุก “GAP Monkey Free Plus” ย้ำไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว