TDRI ชี้คนไทยลืมวิกฤตต้มยำกุ้ง กลับสู่พฤติกรรมการเงินเสี่ยง

01 ก.ค. 2567 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 09:38 น.

วิกฤตต้มยำกุ้ง สั่นสะเทือนทั้งประเทศและภูมิภาคเอเชีย มุมมองจาก ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI วิเคราะห์พฤติกรรมทางการเงินของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • หลังวิกฤตคนไทยระวังการใช้จ่าย -ลงทุนมากขึ้น กระจายความเสี่ยง ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว กลัวการกู้ยืมเเละลงทุนในต่างประเทศ
  • บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง กลับมาลงทุนในหุ้น บริโภคมากขึ้น ก่อหนี้สูงขึ้น ออมน้อยลง ลงทุนแบบเสี่ยงอีกครั้ง

  • คนต่างประเทศออมมากขึ้นเมื่อเผชิญวิกฤต คนไทยแสดงพฤติกรรมระมัดระวังเพียงระยะสั้น แล้วกลับสู่พฤติกรรมเดิม

ครบรอบ 27 ปีนับจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 วันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รู้จักกันในนาม "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ประเด็นที่น่าในใจคือ พฤติกรรมการเงินของคนไทยเปลี่ยนไปหรือไม่

 ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้มุมมองว่า ในช่วงแรกหลังวิกฤต พฤติกรรมการออมและการลงทุนของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เกิดความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่เห็นกลับน่าตกใจคนไทยดูเหมือนจะลืมบทเรียนราคาแพงครั้งนั้น และกำลังกลับสู่พฤติกรรมการเงินที่เสี่ยงอีกครั้ง

โดยอธิบายว่า ผลกระทบของต้มยำกุ้ง ส่งผลต่อพฤติกรรมของครัวเรือนแค่ในระยะสั้น ระยะสั้น คือ คนกลัวการเล่นหุ้นไประยะหนึ่ง หากดูจากดัชนี SET index แต่ภายหลังก็เริ่มกลัวลดลงกลายเป็นลงทุนในหุ้นเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน พฤติกรรมหนึ่งที่อาจจะเกิดมากขึ้น คือ การกระจายความเสี่ยง ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว รัฐมีการสนับสนุนการพัฒนาแบงค์ชาติ การกำหนดนโยบายการเงินที่เป็นอิสระ การวางรากฐานความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน มีสิ่งที่อาจจะมากไป คือ การกลัวการกู้ยืมจากต่างประเทศ และการไม่สนับสนุนให้คนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ไทยตกขบวนการเติบโตของโลก ซึ่งช่วยคุ้มครองผลกระทบในแง่ลบช่วงเกิดวิกฤติเช่นกัน

“ตอนนี้สถาบันการเงินเข็มแข็งมาก ไม่ล้มง่ายๆ ช่วยให้ออมได้อย่างอุ่นใจ มีผลิตภัณฑ์การออมที่หลากหลายดี”

หากเทียบกับประเทศอื่น ดร.นณริฏ สะท้อนว่า คนไทยโดยมากไม่ค่อยได้รับความรู้ถึงผลกระทบเท่าไหร่ เนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้งกระทบกับอุตสาหกรรมการเงินเป็นหลัก คนทั่วไปได้รับผลไม่มากยกเว้น คนที่เล่นหุ้นหรือทำงานด้านการเงิน/อสังหาริมทรัพย์

ปัจจุบัน แม้สถาบันการเงินของไทยจะแข็งแกร่งขึ้นมาก แต่พฤติกรรมการออมและการลงทุนของประชาชนกลับไม่ได้สะท้อนถึงความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน การกลับมาของการลงทุนที่เสี่ยง การก่อหนี้ที่สูงขึ้น และการออมที่ลดลง เป็นสัญญาณที่น่าวิตกว่าบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งอาจถูกลืมเลือนไปแล้ว

“พฤติกรรมคนต่างประเทศเวลาเผชิญกับวิกฤติจะออมมากขึ้น กลัวความเสี่ยงมากขึ้น แต่ของไทยเห็นภาพนี้อยู่บ้างเพียงระยะสั้น แล้วก็กลับมาบริโภคกันมาก ก่อหนี้กันมาก ออมน้อยลง และกลับมาลงทุนแบบเสี่ยงอีกครั้ง”