เคล็ดลับ การบริหาร 'บลูบิค' สู่ผู้นำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน : The Iconic

25 มิ.ย. 2567 | 15:56 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 20:03 น.

เคล็ดลับ การบริหาร 'บลูบิค' สู่ผู้นำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน รายแรกของไทยที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หัวใจสำคัญการพัฒนาบุคลากร ปี 66 โกยรายได้ 1,313 ล้านบาท (+133%) กำไรสุทธิกว่า 303 ล้านบาท (+132%)

หลังจาก “บลูบิค” บริษัท ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน คอนซัลท์ รายแรกของไทยที่ IPO เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อปี 2021 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะปี 2024 ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง “พชร อารยะการกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

ลำดับแรกที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนคือ บุคลากรที่เพิ่มขึ้นจาก 200 คน เป็นราว 1,000 คน ภายใน 2 ปี รวมถึงได้ใช้เงินทุนที่ได้จากนักลงทุนขยายบริการใหม่ๆ และออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ อินเดีย และเวียดนาม

เดิมทีบริการของบลูบิค คือ Core Services คือให้บริการด้านการวงกลยุทธ์ธุรกิจไปจนถึงการดำเนินการตามแผน โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย เช่น ระบบการเงิน ธนาคาร และประกันภัย เป็นต้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการขยายทีม นำผู้ที่มีความสามารถเข้ามาภายในองค์กรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น

จากนั้นบลูบิค ได้นำ Core Services มาขยายบริการให้กว้างขึ้น เช่น Cyber Securities, การสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง HR และ นวัตกรรม ไปจนถึงการ Joint Venture กับบริษัทชั้นนำ และลงทุนร่วมกันสร้างระบบ ทำให้โอกาสเปิดกว้างมากขึ้น

การขยายธุรกิจของ บลูบิค เริ่มจากความต้องการและ Journey ของลูกค้า ว่ามีช่องว่างส่วนใดบ้างที่สามารถเข้าไปเติมเต็ม สามารถดำเนินธุรกิจได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกส่วนหนึ่งคือการทำ Research & Development ค่อนข้างเยอะ ค้นคว้าและติดตามเทคโนโลยีชั้นนำในโลกไปสู่การนำไปทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย

ผลิตภัณฑ์ชูโรงหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ “บลูบิค” คือ ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดตัว “LISMA X” ตอบโจทย์ใช้งานระบบ SAP ที่เป็นการใช้บริการซอฟต์แวร์ ERP ให้สามารถทำงานบน Microsoft Power Platform สามารถใช้บริการได้ทั้ง PC และ สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่สามารถทำได้ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน แสดงผลลัพธ์และสั่งงานแบบเรียลไทม์ และยังได้นำ Generative AI เข้าไปช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปี 2024 เป็นปีที่ Generative AI เข้ามามีบทบาทกับการทำงานอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ChatGPT ทำให้หลายองค์กรมีการนำ AI เหล่านี้เข้ามาใช้บริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยบลูบิคเองก็ต้องปรับตัวตามเทรนด์ให้ทัน

“บางฟังก์ชัน เช่น งาน HR สามารถใช้ AI วิเคราะห์ถอดข้อมูลออกจาก CV ว่า ตำแหน่งงานที่องค์กรกำลังตามหา Match กับผู้ที่ยื่นสมัครงานเข้ามามากน้อยเพียงใด ทำให้ลดระยะเวลาในการทำงานลง นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ยอดขาย และข้อมูลจากลูกค้าได้ง่ายขึ้น”

บลูบิค ได้เริ่มใช้ AI กับการบริหารจัดการภายในองค์กรมาซักระยะหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นก็นำไปบริการให้กับลูกค้า เช่น ภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำ Production Planning ลดความสูญเสียทางธุรกิจ ไปจนถึงการคาดการณ์ซ่อมบำรุงเครื่องจักร เพื่อไม่ให้ไลน์การผลิตต้องหยุดชะงัก

หัวใจของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล คือความเข้าใจความต้องการของแต่ละบุคคล เนื่องจากบลูบิค มีพนักงานที่หลากหลายทั้งรสนิยม บุคลิก และหลายช่วงวัย จึงต้องออกแบบประสบการณ์การทำงาน และความก้าวหน้าทางสายอาชีพ (Career Path) ให้ชัดเจน และมีทิศทางตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรคุณภาพ และเพื่อเป็นการรักษาคนเก่งให้อยู่ในทีมต่อไปได้

“ทีม HR เราทำงานหนักมาก โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งบุคลากรเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพราะเราไม่สามารถออกแบบที่ One Size Fit All ได้อีกต่อไป ต้องแบ่งให้เป็นกลุ่มย่อย ๆ มากขึ้น”

การเฟ้นบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเป็นสิ่งสำคัญ​ที่ต้องมีทีมงานหลัก (Core Team) ที่แข็งแรง เพราะ “คนเก่งอยากทำงานกับคนเก่ง”  จึงต้องรักษามาตรการของบุคลากรภายในองค์กร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครพนักงาน ต้องมีความเข้มข้นเพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการเท่านั้น

“ในช่วงแรกๆ CEO = Chief Everything Officer ใช้จุดแข็งของ CEO ในการปิดจุดอ่อนขององค์กร ช่วงต่อมาคือการปรับบทบาทตัวเองเป็น Process Manager ต้องสร้างขั้นตอนการทำงานให้ทุกคนสามารถทำงานแทนเราได้ และปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนเป็นโค้ช สร้างผู้บริหารยุคใหม่ๆ ขึ้นมาบริหารงานเพิ่มเติม และที่สำคัญที่สุด คือ CEO ต้องเป็นผู้วางกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร” 

เคล็ดลับ การบริหาร \'บลูบิค\' สู่ผู้นำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน : The Iconic 3 Key Success

  1. ใส่ใจวางกลยุทธ์ แม้บลูบิคจะเป็นที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะวางกลยุทธ์ให้กับตัวเอง เพิ่มจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน เพื่อชนะคู่แข่งและขยายธุรกิจให้เติบโต 
  2. การพัฒนาผู้คน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเติบโตแค่ไหน แต่การสร้างบุคลากรมืออาชีพก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องลงทุน Upskill-Reskill เพราะศักยภาพของบริษัท ขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคลากรภายในบริษัท
  3. ต้องเท่าทันกับเทรนด์โลก บริษัทที่มีการติดตามเทรนด์อย่างใกล้ชิดจะสามารถเติบโตได้รวดเร็ว เพราะอาจจะเห็นโอกาสก่อน หรือเห็นภัยคุกคามที่อาจเข้ามา และเตรียมพร้อมรับมือ

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,004 วันที่ 27 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เคล็ดลับ การบริหาร \'บลูบิค\' สู่ผู้นำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน : The Iconic