นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร กล่าวในเวที The ICONIC ในหัวข้อ “Road to successor” เนื่องในโอกาสครบ รอบ 44 ปี ของ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บลูบิคเริ่มต้นบริษัทด้วยเงินทุนไม่มาก แต่มีความ “ตั้งใจ” และ “ความฝัน” โดยผู้ที่เข้ามาร่วมก่อตั้งนั้นส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ซึ่งทุกคนยอมสละอาชีพที่มั่นคง มารวมตัวกัน
โดยเชื่อว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทต่างชาติ แต่สามารถทำให้บริษัททัดเทียมบริษัทระดับโลกได้ ผู้ก่อตั้งทุกคนมีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจากอาชีพที่ทำก่อนหน้านี้ แต่เรามองว่ายังไม่ดีพอ เชื่อว่าสามารถทำได้ดีกว่านี้ ถ้าไม่มีกรอบข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่
เป้าหมายของบลูบิค ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันแรกไม่ได้มองเรื่องของกำไร เราไม่ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อนำผลกำไรตอบแทนกลับมาผู้ถือหุ้น แต่อยากสร้างองค์กรที่มีคนคุณภาพสูงอยากเข้ามาทำงาน จุดมุ่งหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน เพราะเราเชื่อว่าแม้ว่าเราจะทำเทคโนโลยีไปช่วยองค์กร แต่ทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทคือ คน ที่เราให้ความสำคัญเรื่องคน กลยุทธ์ทั้งหมดของเรามุ่งไปเรื่องคน ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทเทค แต่ให้ความสำคัญ เรื่องคนเป็นอันดับแรก
สิ่งที่บลูบิคต่างจากเทคเซอร์วิส รายอื่น คือ เรามองว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ช่วยธุรกิจเติบโต สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีต้องไปสอดรับกับธุรกิจอย่างไร ถ้าเราเข้าใจว่าธุรกิจมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถเอาเทคโนโลยีเข้าไปเสริมได้ ถ้าเราเข้าใจว่าจุดแข็งอยู่ตรงไหน เราสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ เทคโนโลยีจะเป็นตัวเสริม
กลยุทธ์ที่ดีสุดท้ายขึ้นอยู่กับคน ขึ้นอยู่กับความสามารถของคน ที่คิดเรื่องนี้ขึ้นและนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันสำหรับบลูบิค ไม่ใช่นำเทคโนโลยีที่ดีสุดมาใช้ แต่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และกลยุทธ์ที่ใช่มารวมกัน เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กร ให้สามารถเติบโตได้
การสร้างกลยุทธ์ที่ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนผสมสำคัญของบลูบิค ที่สร้างความแตกต่างจากบริษัทอื่น คือเราเชื่อเรื่องความแตกต่าง บุคลากร ที่บลูบิคมีความหลากหลายมากด้านเทคนิค มีแชมป์หุ่นยนต์โลก โอลิมบิค คอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ไปถึงฝั่งกลยุทธ์ คนที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ซีอีโอบริษัท หรือคนที่เคยทำธุรกิจส่วนตัวมาก่อน มารวมตัวกัน ทั้งยังมีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ที่บลูบิค มีบุคลากรจากหลายสัญชาติ ที่มีความแตกต่างอายุ เพศ ด้วยมุมมองที่แตกต่างทำให้สามารถคิดสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ กลยุทธ์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และเชื่อว่าการมีความคิดที่แตกต่าง ทำให้เราสามารถค้นคิดสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่า คน เป็นสินทรัพย์สำคัญ มีส่วนผสมที่สำคัญเรื่องความแตกต่าง สิ่งที่บลูบิค ทำมาตลอดคือการลงทุนเรื่องคน เพราะเชื่อว่าการลงทุนคนได้ผลตอบแทนมากสุด สูงกว่าการลงทุนอุปกรณ์ เพราะคนสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับองค์กร วิธีการลงทุนเรื่องคนของบลูบิค พื้นฐานสุด คือเพิ่มขีดความสามารถของคนในองค์กร เราลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ไม่ใช่เพื่อลูกค้าอย่างเดียว แต่สิ่งแรกที่ทำคือนำงานวิจัยและพัฒนามาเทรนบุคลากรของเราให้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ และยังได้ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแลป ขยายผลการใช้งานเทคโนโลยี และกลยุทธ์ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการโค้ชชิ่ง และ Mentoring การแนะนำการสอนจากความรู้และประสบการณ์ โดยคนใหม่ที่เข้ามาทำงานจะต้องโอกาสจับคู่กับคนที่มีความแตกต่าง มีประสบการณ์ เพื่อให้นำเรื่องส่วนตัว และเรื่องงานไปพูดคุยเพื่อรับคำแนะนำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือระดมสมองเรื่องงาน เพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของคนในบลูบิค นอกจากการจะได้พัฒนาตัวเอง ยังได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ในแต่ละเจนเนเรชัน ในแต่ละส่วนงาน การลงทุนแบบนี้ถือเป็นการลงทุนคุ้มค่า
นอกจากการพัฒนาคนแล้ว ธุรกิจแบบบลูบิคที่พึ่งพาคน สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเปิดให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของ เราตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 ปีที่แล้ว เหตุผลอย่างหนึ่งเพื่อให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ และเราเชื่อว่าหลังจากวันนั้นเป็นต้นมาเจ้าของไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ก่อตั้ง แต่พนักงานทุกคนเป็นเจ้าของ แต่มีโปรแกรมที่ให้พนักงงานมีส่วนร่วมลงทุนในบริษัทและเติบโตไปกับบริษัท
ส่วนผสมที่สำคัญอีกประการ นอกเหนือจากมีคนที่ดี มีการพัฒนาคนที่ดี สุดท้ายคือวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นส่วนผสมที่สำคัญ โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นเทคคอมพานี หลายคนอาจเป็นคนเก่ง มีความรู้ เข้าใจเทคโนโลยีที่ดี แต่สิ่งสำคัญ คือ การฟัง และเคารพความคิดเห็นของคนที่แตกต่าง โดยการที่คนแตกต่างมีเรื่องความยุ่งเหยิงอยู่ แต่เชื่อว่าสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ตลอดเวลา คนที่มีประสบการณ์เรื่องเทค พูดคุยกับคนที่มีความรู้ธุรกิจ เกิดการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เห็นเด็กยุคมิลลิเนียม นำเสนอความ คิดความเห็นไปยังกลุ่ม เบบี้บูมเมอร์ เห็นบอร์ดรับฟังพนักงานใหม่ ซึ่งเป็นความสวยงามของการหลอมรวมกันที่ทลายกำแพงเรื่องของ “เจนเนอเรชัน”
สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ออกมาสู่การให้ “บริการลูกค้า” ด้วยการรับฟังลูกค้ามาก กว่าที่เคย เพื่อเข้าใจถึงปัญหาให้ตรงจุดเพื่อพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่เพื่อประเทศไทย นั่นคือหัวใจสำคัญของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน”